ธุรกิจซึม “กำลังซื้อ” ภูธรอ่วม สินค้าอุปโภคบริโภคแข่งเดือดแย่งลูกค้า

กำลังซื้อต่างจังหวัดยังซึม สินค้าอุปโภคบริโภคอ่วมหนักแข่งขันกันเดือดแย่งเม็ดเงิน โปรโมชั่นแปลกแหวกใหม่ออกมาเกลื่อนแต่ “ราคา” ยังเป็นหัวใจสำคัญ ยอดขายตลาดบน-กรุงเทพฯ-เมืองท่องเที่ยวไปได้ แต่ต่างจังหวัด-คนจนซึมยาว ชี้เทรนด์ใหม่ออนไลน์แจ้งเกิดสินค้าหน้าใหม่เพียบ

แม้งบภาครัฐที่อัดฉีดลงไปปลุกกำลังซื้อจะดันบรรยากาศจับจ่ายกระเตื้องข้ามปี แต่ภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังเหนื่อย “ประชาชาติธุรกิจ” สะท้อนมุมมองกำลังซื้อทั่วประเทศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดผ่าน 3 ตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าที่ครอบคลุมพื้นที่ภูธร

กำลังซื้อรากหญ้ายังน่าห่วง

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ภาครัฐอุดหนุนค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งช่วยให้บรรยากาศการค้าในระดับล่างดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัวดีพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว

ทั้งนี้ กำลังซื้อในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวยังคงไปได้ ไม่ต่างกันมากนัก แต่ในจังหวัดที่ไม่มีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ไม่มีผลผลิตการเกษตรที่ได้ราคา กำลังซื้อก็จะมีปัญหา คนจนยังลำบากเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงแต่ขายได้ราคาต่ำ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรเข้ามาดูแล หาทางแก้แบบยั่งยืน

สินค้า FCMG จีนดัมพ์ราคาบุก

ดังนั้น ภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ยังเหนื่อย การแข่งขันยังร้อนแรง ผู้ผลิตต่างต้องแย่งชิง ฉกฉวยโอกาสให้กับตัวเอง เพราะนอกจากเรื่องกำลังซื้อ ยังเจอความท้าทายจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย วันนี้ไทยมีคนสูงวัยคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง ซึ่งหมายถึงการบริโภคโดยรวมของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น

เมื่อแต่ละบริษัทผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ บวกกับการเปิดเสรีการค้าที่ทำให้สินค้าจากต่างประเทศ เช่น ขนมขบเคี้ยวจากจีน ฯลฯ ไหลเข้ามาแข่งกับผู้ประกอบการไทย การแข่งขันในตลาดจึงสูงขึ้น พร้อมกับปริมาณสินค้าที่ล้นเกินความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากกลุ่มผู้บริโภคหลักในตลาดจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้ตลาดเปลี่ยนไวยิ่งขึ้น การเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ก็เข้ามาแชร์การซื้อขายในช่องทางปกติ ผู้ผลิตจึงต้องปรับตัว พัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ทำสินค้าตอบโจทย์คนสูงวัยมากขึ้น ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเด็กก็ต้องหาวิธีรับมือ นอกเหนือจากการทำโปรโมชั่นเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วงชิงลูกค้าเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่เรื่องราคาสินค้าก็ต้องจับตามอง เพราะค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก

บัตรสวัสดิการ ปลุกแรงซื้อสั้น ๆ

ด้านนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้บริหาร “ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์” ร้านค้าปลีก-ค้าส่งใน จ.อุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแต่กำลังซื้อยังกลับมาไม่เต็มที่ แม้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยกระตุ้นให้คนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น บรรยากาศดีขึ้นทำให้ธุรกิจพอเคลื่อนตัวไปได้ แต่งบที่รัฐใส่เข้ามาเป็นเพียงเงินหมุน ภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เงินในระบบจึงไม่เพิ่มขึ้นจริงๆ

สำหรับวงการสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ ผู้ประกอบการต้องลุยเต็มที่เพื่อทำยอดขายให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย หรือเท่ากับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย การแข่งขันรุนแรงแน่นอนเพราะทุกคนต้องหนีตาย ทำโปรโมชั่นเข้ามากระตุ้น อาจเห็นโปรโมชั่นแปลกๆ ออกมา แต่หลัก ๆ แล้วจะยังสู้กันด้วยเรื่องราคา เพราะเป็นกิจกรรมที่เข้าใจง่าย ขณะเดียวกันการออกสินค้าใหม่ที่มีนวัตกรรม แม้ราคาจะสูงกว่าแต่ใช้แล้วคุ้มค่ากว่าในระยะยาวก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ยอมจ่าย ซึ่งสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อคนสูงวัยก็เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเห็นสินค้าปรับขึ้นราคาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ก่อนหน้านี้ การปรับขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ ก็ทำให้ราคาสินค้าบางตัวปรับขึ้นไปสูงกว่าราคาในประเทศเพื่อนบ้านมาก ก็สุ่มเสี่ยงให้มีของหนีภาษีเข้ามามากขึ้น เหล่านี้เป็นอีกความท้าทายของตลาดที่ต้องจับตามอง

ตลาดบนยังโต

ขณะที่นายฤทธิกร กะการดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ราชสีมา เอสดีโอ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคกลาง ตะวันออก อีสาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กำลังซื้อในกลุ่มบนยังดีและจะดีต่อเนื่อง สะท้อนผ่านกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมที่ยังไปได้ดีอยู่ ขณะที่ในระดับล่าง หากไม่มีงบฯจากภาครัฐเข้ามาอุดหนุนผ่านบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยจะค่อนข้างเงียบ เพราะหนี้ครัวเรือนยังสูง ราคาสินค้าเกษตรก็ยังไม่ค่อยดี คนส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย

“ช่วงปลายปีที่ผ่านมาค้าปลีกในต่างจังหวัดได้อานิสงส์จากโครงการบัตรสวัสดิการคนจนค่อนข้างมาก แต่กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการลงทุนจากภาครัฐลงไป”

เน็ตไอดอลดันสินค้าใหม่ ๆ

นอกจากปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจ การเติบโตของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีสินค้าเกิดใหม่เยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอาง ซึ่งอิทธิพลจากเน็ตไอดอลที่ช่วยสื่อสารให้สินค้าเหล่านั้นเข้าถึงคนได้กว้างและเร็ว มีสินค้าขายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ก็ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้าแบรนด์ทั่วไปด้วย

ด้วยสภาวะดังกล่าว ทำให้เจ้าของสินค้าต้องปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทำกิจกรรมแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศแบบที่ผ่านมาไม่ได้ ทีมการตลาดต้องทำการบ้านมากขึ้น ลงลึกมากขึ้น เพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้า ดูว่าพื้นที่ไหนต้องการอะไร สินค้าตัวไหนขายดี เพราะทุกวันนี้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้เองมากขึ้น จากที่เคยใช้สินค้าตามเทรนด์คนเมืองก็ตัดสินใจเองมากขึ้น คำว่า กรุงเทพฯคือประเทศไทยใช้ไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง จับต้องได้มากกว่าเดิม เช่น ใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ตรงจุด สื่อสารผ่านบล็อกเกอร์เหมาะสมกับสินค้า ฯลฯ มากกว่าทำราคาถูกมาแข่งอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวเวลาที่ลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น