“แอสตร้า” โฟกัส ESG เข้มทุกระดับทั้งในและนอกองค์กร

เจมส์ ทีก

อีเอสจี (ESG) หรือแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เน้นความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งด้านผลประกอบการ และภาพลักษณ์-ชื่อเสียงองค์กร หลังนักลงทุนทั่วโลกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน อีกทั้งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ เนื่องจากสะท้อนความรับผิดชอบที่มีต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกองค์กร

“เจมส์ ทีก” ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความสำคัญและการนำแนวคิด ESG มาปรับใช้กับธุรกิจของแอสตร้าเซนเนก้า ในงานสัมมนา “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สุขภาพของผู้คนและสุขภาพของโลกนั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด แม้โควิด-19 จะกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างหนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบผู้คนหนักหน่วงยิ่งกว่าและส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วอายุคน

ดังนั้น ในฐานะองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงต้องลงมือดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ในทันที ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมุ่งเน้นแนวทางดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คนในองค์กร โดยอาศัยแนวคิด ESG คือ สิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance)

“การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างเพียงการเติบของรายได้และผลกำไรนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่ต้องมีผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย”

ลดคาร์บอน-เพิ่มความเท่าเทียม

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมนั้น วางเป้าหมายไม่เพียงหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลยภายในปี 2025 เท่านั้น แต่ยังมีเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลงไปอยูในระดับติดลบภายในปี 2030 อีกด้วย ด้วยการขยายยุทธศาสตร์ปลอดคาร์บอนให้ครอบคลุมทั้งแวลูเชน อาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไปจนถึงลงทุนด้านการกำจัดก๊าซคาร์บอนด้วยวิธีทางธรรมชาติ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

พร้อมกับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่การวิจัยพัฒนา ตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไปจนถึงการลดของเสียและใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างเช่น ยาพ่นคอ (inhalers) นั้นสูตรเดิมจะมีก๊าซเรือนกระจกปนอยู่ จึงต้องหาทางปรับสูตรใหม่ เป็นต้น รวมถึงเดินหน้าบริหารจัดการ ป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศและลงทุนกับความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของทั้งสังคมมนุษย์และธรรมชาติ

ขณะที่ด้านสังคม จะมุ่งจ้างงานและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ พร้อมกับยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ป่วยทั่วโลก ด้วยการรับฟังความต้องการของผู้ป่วยและนำไปเป็นแนวทางพัฒนา และร่วมมือกับหน่วยงานจากหลากหลายวงการ รวมถึงหน่วยงานสุขภาพ หน่วยงานรัฐ-เอกชน ในแต่ละประเทศเพื่อพัฒนายาที่ทั้งตรงตามความต้องการ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้

ด้านธรรมาภิบาล จะมุ่งเน้นรักษามาตรฐานจริยธรรมและคุณค่าต่าง ๆ ในระดับสูงสุด เพื่อให้สามารถตอบรับความคาดหวังของทั้งผู้ป่วย นักลงทุนและสังคมได้ โดยมาตรฐานนี้จะรวมถึงมีทีมงานที่หลากหลายในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือแนวคิด ด้วยความเชื่อว่า ความหลากหลายนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อาศัยนโยบายที่สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมทั้งในและนอกที่ทำงาน ภายใต้แนวคิด ทำสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right thing) และเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การทำงาน (Great place to work)

โดยสาขาในประเทศไทยนั้น พนักงานหญิงมีสัดส่วนถึง 71.6% เช่นเดียวกับทีมบริหารที่มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง อีกทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งใน 12 บริษัทที่เข้าร่วมให้คำมั่นสัญญาในการให้วันเพื่อเลี้ยงดูบุตรนาน 30 วัน ภายในช่วง 1 ปีแรก ด้วยความหวังว่านโยบายนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถเริ่มต้นสร้างครอบครัวได้อย่างเต็มที่

ทุ่มโปรเจ็กต์เสริมสุขภาพคนไทย

ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ยังเปิดเผยถึงแผนส่งเสริมสุขภาพของชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นจับมือกันหน่วยงานรัฐ-เอกชน ยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ร่วมกับการเอกซเรย์ เพื่อแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม โดยจะมีการนำไปใช้ในวงกว้างในปี 2566 ที่จะถึงนี้ รวมถึงสร้างสื่อเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ อาทิ หัวใจ หลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ เนื้องอก และโควิด-19 เผยแพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ถึงโรคเหล่านี้

พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้เรื่องสุขภาพในกลุ่มเยาวชนและวันเริ่มทำงาน อายุ 10-24 ปี ด้วยโครงการ The Young Health Programme (YHP) โฟกัสในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือด เพื่อป้องกันเยาวชนจากโรคกลุ่มนี้ โดยปี 2564 สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แล้วกว่า 1.1 ล้านคน

นอกจากนี้ยังจับมือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ดูแลสุขภาพของผู้คนในวงกว้าง ผ่านโครงการต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น แอป Asthma Excellence ที่บริษัทร่วมมือกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และดีป้า พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคหืด ไว้อำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

ย้ำ ESG ไม่ใช่อุปสรรคของธุรกิจ

สุดท้าย “เจมส์ ทีก” ยังย้ำอีกว่า ยุทธศาสตร์ ESG ไม่ใช่สิ่งที่สร้างภาระให้กับธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามการดำเนินงานตามแนวทางนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปรับรูปแบบการประชุมที่มุ่งให้พนักงานเดินทางน้อยที่สุด หรือประชุมออนไลน์แทน จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักลงไปพร้อม ๆ กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้สร้างกำไรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายในการสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง เช่น การลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การหันไปใช้รถประจำทาง-รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องเริ่มจากระดับผู้บริหารก่อน แล้วจึงถ่ายทอดลงมายังพนักงานเป็นรายคน สร้างความเข้าใจว่าแต่ละคนสามารถเข้าร่วมแนวทางนี้ได้อย่างไร เพื่อให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน


“ESG มีความสำคัญ เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นสูงกว่าผลกระทบต่อกำไรทางธุรกิจ ตอนนี้ผมเองก็ต้องปรับแผนการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ประธานบริษัท แอสตร้าฯ กล่าวทิ้งท้าย