“ช็อกโกแลต”…บุกเจแปน รับเทรนด์ “วาเลนไทน์” หวาน ๆ

คอลัมน์ Market Move

วันวาเลนไทน์ นับเป็นโอกาสทองของวงการขนมหวาน โดยเฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งวัฒนธรรมการให้ช็อกโกแลตแทนการบอกรักนั้น เรียกได้ว่าเข้มข้นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เข้มข้นยิ่งกว่าประเทศตะวันตกที่เป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมนี้เสียอีก และแม้จะไม่ใช่ช่วงวาเลนไทน์ แต่ชาวญี่ปุ่นยังบริโภคช็อกโกแลตกันมหาศาลเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

เห็นได้จากข้อมูลของบริษัทวิจัย “ยูโรมอร์นิเตอร์” ซึ่งระบุว่า ปี 2560 ที่ผ่านมามูลค่าตลาดขนมช็อกโกแลตของญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ด้วยมูลค่า5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนและอินเดียซึ่งเป็นอันดับ 2 และ 3 มีมูลค่าเพียง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ2 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ นอกจากนี้มูลค่าตลาดญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มเติบโตเป็นเฉียด 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 อีกด้วย

เรื่องนี้ทำให้ “เนสท์เล่ เอสเอ” (Nestle SA) ผู้ผลิตขนมหวานรายใหญ่ของโลก อาทิ คิทแคท, สมาร์ทตี้, บัตเตอร์ฟิงเกอร์ และอื่น ๆ เลือกญี่ปุ่นเป็นเวทีเปิดตัว คิทแคทสูตรใหม่ ที่ผลิตด้วย”รูบี้-ช็อกโกแลต” (ruby-chocolate) ซึ่งเป็นช็อกโกแลตชนิดใหม่มีสีชมพูตามธรรมชาติและมีรสของผลไม้ ก่อนจะเริ่มขายในตลาดอื่น ๆ อาทิ เกาหลีใต้ สหรัฐ และยุโรป ช่วงก่อนวันวาเลนไทน์เพื่อรับดีมานด์ที่จะพุ่งสูง

ทั้งนี้ “รูบี้-ช็อกโกแลต” เป็นช็อกโกแลตชนิดใหม่ของโลกในรอบ80 ปี หลังจากมีการคิดค้น ไวต์ช็อกโกแลตเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1930 โดยเป็นผลงานคิดค้นของ “แบรี่ แคลเลอบอง เอจี” (Barry Callebaut AG) บริษัทแปรรูปช็อกโกแลตสัญชาติสวิส มีจุดเด่นที่สีชมพูและรสเปรี้ยว-หวานแบบเบอร์รี่ที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปเมล็ดโกโก้จากบราซิล, เอกวาดอร์ และไอวอรี่โคสต์โดยไม่มีการเติมสี, กลิ่น หรือรสเพิ่มเข้าไปเลย

ซึ่ง “เนสท์เล่” ได้ทุ่มงบฯซื้อสิทธิ์ใช้ช็อกโกแลตชนิดนี้เพียงผู้เดียวนาน 6 เดือน พร้อมจับมือเชฟขนมหวานชื่อดังชาวญี่ปุ่น “ยาสุมาสะ ทาคากิ” ให้ ผลิตเป็นคิทแคท หวังสร้างการรับรู้และความได้เปรียบในการแข่งขันคิทแคทรูบี้-ช็อกโกแลต จะวางขายตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.เป็นต้นไป เพื่อให้ทันกับกระแสวันวาเลนไทน์ โดยในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดหลักสามารถซื้อได้ที่ร้านคิทแคทช็อกโกลาทอรี่

ส่วนประเทศอื่น ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์ และอื่น ๆ รวม 9 ประเทศ จะต้องสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ โดยราคาสำหรับตลาดญี่ปุ่นอยู่ที่ 400 เยน หรือประมาณ 115 บาท

“แซนดรา มาติเนท” หัวหน้าฝ่ายสินค้าขนมของเนสท์เล่ อธิบายเหตุผลของแผนนี้ว่า ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่แข็งแกร่งของคิทแคท เห็นได้จากรสชาติต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว, ซากุระ, วาซาบิ และอื่น ๆ รวมกว่า 300 รสชาติ ขณะเดียวกันรสชาติแปลกใหม่เหล่านี้ช่วยให้คิทแคทเป็นสินค้าโปรดของบรรดาวัยรุ่นกลุ่มมิลเลนเนียลไปพร้อมกัน บริษัทจึงเลือกนำรูบี้-ช็อกโกแลตมาผลิตเป็นคิทแคทและเปิดตัวในญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก

สอดคล้องกับความเห็นของ “โทมัส เจสเซป” นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กที่มองว่า กระแสรูบี้-ช็อกโกแลตจะช่วยกระตุ้นดีมานด์ของคิทแคทรสอื่น ๆ ด้วย ในขณะที่วัตถุดิบใหม่นี้จะสร้างภาพลักษณ์พรีเมี่ยมให้กับแบรนด์ไปพร้อมกันช่วยรับมือการแข่งขันราคาที่ดุเดือด

ทั้งนี้ญี่ปุ่นนับเป็นตลาดหลักของขนมช็อกโกแลต ซึ่งฤดูร้อนปีที่แล้วเนสท์เล่ได้ลงทุนสร้างโรงงานคิทแคทแห่งแรกในรอบ 26 ปี เพื่อรับดีมานด์ เช่นเดียวกับเมจิ ซึ่งลงทุน 2.7 หมื่นล้านเยน เพิ่มกำลังผลิตของโรงงานในประเทศ 2 แห่งความเคลื่อนไหวนี้ น่าจะกระตุ้นให้ตลาดขนมช็อกโกแลตของญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศคึกคักขึ้นทั้งก่อนและหลังวาเลนไทน์