เจาะตลาดความงาม จีน-เกาหลี โอกาส…ผู้ประกอบการไทย

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ไทยถือเป็นฮับในการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญในอาเซียน ไม่ว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกก็ตาม ทั้งความน่าเชื่อถือ กระบวนการผลิตที่ครบครันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และส่วนผสมจากธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ ทำให้เครื่องสำอางที่ผลิตในไทยได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เกศมณี เลิศกิจจา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ระบุว่า ไทยถือเป็นฐานผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.12 แสนล้านบาท และมูลค่าในประเทศ 1.68 แสนล้านบาท ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี และยังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง

โดยศักยภาพของเครื่องสำอางแบรนด์ไทยนอกจากการเติบโตในประเทศแล้ว หากได้รับการผลักดัน การเสริมองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะสามารถเข้าไปสร้างการยอมรับในตลาดโลกได้ไม่ยาก ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้ร่วมกับอิมแพค จัดงานบียอนด์ บิวตี้ อาเซียน แบงคอก ครั้งที่ 5 โดยปีนี้เน้นผลักดันสินค้าเมดอินไทยแลนด์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ไทย ในตลาดโลกให้ได้มากขึ้น โดยจะจัดงานในวันที่ 20-22 ก.ย. 2561

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ดพาแนล จำกัด ระบุเพิ่มเติมว่า ตลาดเครื่องสำอางในต่างประเทศที่น่าสนใจ มีศักยภาพการเติบโตสูง ได้แก่ จีน ซึ่งกลุ่มสินค้าในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมได้รับความนิยมมาก จากกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมที่จะใช้จ่ายหากสินค้ามีคุณภาพดี และโดนใจ ซึ่งการสร้างแบรนด์จำเป็นต้องกระตุ้นให้ผู้บริโภคทดลองสินค้า และใช้สื่อดิจิทัลในการเข้าถึง ตลอดจนการใช้พรีเซ็นเตอร์ผู้ชายมาช่วยสื่อสาร

ส่วนเกาหลี มีขนาดตลาดเครื่องสำอางอันดับต้น ๆ มีขั้นตอนของการใช้สกินแคร์ก่อนลงเครื่องสำอางมากกว่าคนไทยถึง 7 สเต็ป (ไทย 3 สเต็ป) ผู้บริโภคไม่ได้ยึดติดกับกลุ่มพรีเมี่ยมเพียงอย่างเดียว แต่ก็เปิดรับกลุ่มแมสทีจ หรือแมสหากมีคุณภาพดีหรือเทียบเท่า และการใช้เครื่องสำอางในช่วงกลางวัน-กลางคืน หรือระหว่างวันธรรมดา-ไปปาร์ตี้ ก็ใช้สินค้าที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่มาแรงในช่วงนี้ได้แก่ บำรุงรอบดวงตา และมาสก์หน้า

อย่างไรก็ตาม การสร้างความแข็งแกร่งในตลาดบ้านเกิดก็สำคัญเช่นกัน โดยจุดแข็งของผู้ผลิตท้องถิ่น ถือการปรับตัวที่เร็วกว่าแบรนด์อินเตอร์หลาย ๆ บริษัท เช่น การนำสมุนไพรเข้ามาใช้ในกลุ่มของสบู่ ซึ่งจะเห็นภาพในปีที่ผ่านมาว่า มีแบรนด์ต่างชาติให้ความสนใจออกผลิตภัณฑ์ในแคทิกอรี่ดังกล่าวจำนวนหลายแบรนด์

ตลาดที่หอมหวนเช่นนี้ ย่อมดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย การสร้างแบรนด์จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับการพัฒนาสินค้าให้โดนใจ