คลอดเกณฑ์ “เทเลฟาร์มาซี” เข้มมาตรฐาน-ดีเดย์ ก.พ. 2566

เทเลฟาร์มาซี

คลอดแล้ว มาตรฐานการให้บริการเทเลฟาร์มาซี “โรงพยาบาล-ร้านขายยา” ย้ำเภสัชกรผู้ให้บริการต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่สภาเภสัชกรรมรับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนกับสภาเภสัชกรรม ด้านนายกสภาเภสัชกรรม เผยข้อดี-ประโยชน์ เพียบ พร้อมเร่งทำแอปพลิเคชั่น “ร้านยาของฉัน” เปิดโหลดฟรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 62/2565 เรื่องแนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยประกาศดังกล่าวมีรายละเอียดที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ต้องให้บริการเภสัชกรรมทางไกล หรือเทเลฟาร์มาซี สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง, ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ที่จะทำการให้บริการเทเลฟาร์มาซี ต้องผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรเกี่ยวกับการให้บริการเทเลฟาร์มาซี ที่สภาเภสัชกรรมรับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนกับสภาเภสัชกรรมตามหลักเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด, ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมผู้ให้บริการเทเลฟาร์มาซี ต้องเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในสถานที่ขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบริการของรัฐหรือสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ที่ได้รับอนุุญาต

ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมพึงให้บริการเทเลฟาร์มาซีตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ได้แก่ การสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการให้การบริการที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านยา การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา การติดตามการใช้ยา การวิเคราะห์ใบสั่งยา กรณีมีใบสั่งยา การให้คำแนะนำปรึกษาผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับยา

หรือกรณีของการส่งมอบยาด้วยวิธีการขนส่งยาไปให้ผู้รับบริการ ต้องควบคุมความถูกต้องของยาก่อนการส่งมอบ พิจารณาเลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับประเภทและชนิดของยาที่สามารถประกันคุณภาพของยาไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพและเสียหาย ระหว่างการเก็บรักษาและขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพและความคงตัวของยาตลอดการขนส่ง ส่งมอบยาครบถ้วน ถูกต้องแก่ผู้รับบริการ ณ สถานที่และเวลาที่กำหนด มีระบบป้องกันการสูญหาย และอาจกำหนดให้มีระบบติดตามสถานะการขนส่ง (tracking) ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสามารถตรวจสอบได้

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อเป็นการรองรับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาให้บริการในสถานพยาบาล รวมถึงร้านขายยา เช่น บริการเภสัชกรรมทางไกล รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรมได้มีการกำหนดมาตรฐานในการบริการต่าง ๆ ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเทเลฟาร์มาซีมีข้อดีตรงที่ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยสื่อสารทางไกล ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้รับบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และประโยชน์อีกด้านหนึ่งของระบบเทเลฟาร์มาซี ก็คือ ช่วยให้เภสัชกรสามารถติดตามผลการใช้หรือการให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยาได้ และจะช่วยทำให้ผู้ใช้ยาได้รับความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งมีระบบที่ช่วยบันทึกการบริการ ถ้าเกิดปัญหาอะไร สามารถที่จะรีวิวมาดูได้ว่าเภสัชกรผู้ให้บริการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

นอกจากนี้ สภาเภสัชกรรมยังอยู่ระหว่างการทำแอปพลิเคชั่น ในชื่อของ “ร้านยาของฉัน” เป็นแอปที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตอนนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว สำหรับประชาชนที่โหลดไปใช้จะทำให้รู้ว่า ในพื้นที่ใกล้เคียงมีร้านยาที่ไหน เภสัชกรประจำร้าน ชื่ออะไร

ส่วนกรณีของเภสัชกร เมื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ร้านขายยาแล้วก็ต้องเปิดแอป และแอปก็จะรายงานว่า ร้านขายยานั้น ๆ มีเภสัชกรเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือหากเภสัชกรเลิกปฏิบัติงานและกลับบ้านก็ปิดแอป ระบบก็จะรับทราบว่าเภสัชกรออกจากร้านแล้ว เป็นการบันทึกว่า ปฏิบัติงานจริงจังแค่ไหน

“อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งระบบเทเลฟาร์มาซี ทั้งแอป แต่โดยหลักการสภาเภสัชกรรมก็ยังอยากให้ประชาชนที่ต้องการจะเข้าไปใช้บริการของร้านขายยา หากสามารถเดินทางไปได้ก็ควรไป เนื่องจากการใช้บริการที่ร้านและมีเภสัชกรประจำอยู่จะมีความชัดเจนมากกว่า การสื่อสารผ่านเครื่องมือสมัยใหม่บางครั้งอาจจะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดบ้าง บ้างครั้งอาจจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาอาจจะไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง” นายกสภาเภสัชกรรมย้ำ