ญี่ปุ่น รุกเฮลท์แคร์ ชิงดีมานด์สังคมสูงวัยเมียนมา

คอลัมน์ MARKET MOVE

นับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเมื่อญี่ปุ่นในฐานะประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประสบภาวะสังคมผู้สูงอายุ หันมาใช้ประสบการณ์นี้เป็นจุดขายรุกธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ โดยเฉพาะย่านอาเซียน ซึ่งสหประชาชาติประเมินว่า สัดส่วนผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะสูงกว่า 7% ในปี 2568 และค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงอายุจะพุ่งขึ้น 6.5 เท่าเทียบกับปี 2558 ทำให้มีดีมานด์จากทั้งรัฐบาลและประชาชน ขณะเดียวกันแบรนด์ญี่ปุ่นยังได้รับความเชื่อมั่นในระดับโลกจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศอยู่ก่อนแล้ว จึงได้เปรียบกว่าผู้เล่นท้องถิ่น

โดยเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากญี่ปุ่น 2 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม เริ่มบุกเข้าตลาดในเมียนมาเพื่อชิมลางทั้งดีมานด์ กำลังซื้อ และพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า “ซากุระ คอมมิวนิตี้ เซอร์วิส” (Sakura Community Service) และ “เอกาโอ อิจิบัง” (Egao Ichiban) 2 บริษัทผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มทดลองให้บริการส่งพนักงงานเข้าดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของลูกค้าในกรุงย่างกุ้ง รวมถึงฝึกฝนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาทิ การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ การรักษาความสะอาด เป็นต้น โดยมีกำหนดเวลาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 จนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2561 เพื่อประเมินศักยภาพของตลาดการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในเมียนมา

ทั้งนี้ เมียนมามีโอกาสสำหรับธุรกิจนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากแม้ปัจจุบันเมียนมาจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุประมาณ 5% ของประชากรเท่านั้น แต่คาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2573 พร้อมกับที่ผู้หญิงชาวเมียนมาเริ่มทำงานนอกบ้านกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีระบบประกันสุขภาพระยะยาวมารองรับ ทำให้ดีมานด์บริการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-บน

ด้านรัฐบาลเองเริ่มวางโรดแมปสำหรับรับมือปัญหานี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพด้านดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ รวมถึงวางระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อประกันคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่น โดยนำโมเดลของญี่ปุ่นมาปรับใช้

ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นแบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งการเข้ามาปักธงทำธุรกิจในเมียนมา พร้อมจุดขายด้านโนว์ฮาวและบุคลากรมืออาชีพ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ขณะเดียวกันยังได้แรงงานจากการส่งพนักงานชาวเมียนมาไปฝึกฝนที่ญี่ปุ่น

“ฮิเดอากิ นาคาโมโตะ” ผู้บริหารของซากุระ คอมมิวนิตี้ เซอร์วิส กล่าวว่า การรับมือสังคมผู้สูงอายุจะขาดภาคบริการการดูแลผู้สูงอายุในบ้านไปไม่ได้ โดยระยะแรกจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชาวเมียนมาไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี ตามข้อกำหนดของโครงการฝึกอาชีพ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับค่าจ้างเท่ากับชาวญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมาทำงานในบ้านเกิดเมื่อครบกำหนด

“เราจะปล่อยให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดหล่มแบบเดียวกับญี่ปุ่น ที่เคยมุ่งสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแต่ละเลยด้านการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน จนเกิดปัญหาตามมามากมายไม่ได้”


ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในเมียนมาคึกคักและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต้องจับตาดูว่า ญี่ปุ่นจะใช้ข้อได้เปรียบด้านโนว์ฮาวรุกตลาดใดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรายต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ได้จับมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นของอินโดนีเซีย สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมาแล้วเมื่อปี 2557