ไฟเขียวแทกซ์รีฟันด์ในห้าง ปั้นภูเก็ต-พัทยาดิวตี้ฟรีซิตี้ หนุนไทยเมืองสวรรค์นักช็อป

ค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้าตีปีก กระทรวงการคลัง ไฟเขียวเพิ่มจุดบริการ tax refund คืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าให้นักท่องเที่ยว รับการจับจ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย.นี้ นำร่องในศูนย์การค้ากลางเมือง 5 แห่ง “พารากอน-เซ็นทรัลเวิลด์-เกษร-เอ็มบาสซี-เอ็มควอเทียร์”คาดเพิ่มเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบหลายรอบ ปลุกทัวริสต์ช็อปต่อเนื่อง ด้าน “สมคิด”ตั้งทีมศึกษาเมืองปลอดภาษี วาดแผนปั้น “ภูเก็ต-พัทยา” เป็น duty free city

 

นอกเหนือจากรายได้จากการส่งออกแล้ว ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวกลายเป็นหัวขบวนหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ช่วยขับเคลื่อนแรงซื้อและการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจเมืองไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ “โรงแรม-ค้าปลีกช็อปปิ้ง-อาหาร” ที่มีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยว ความเคลื่อนไหวล่าสุด จากการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคธุรกิจได้ผลักดันโครงการ “การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย” หรือ Tax Refund สำหรับนักท่องเที่ยวในโมเดลเดียวกับต่างประเทศ จากเดิมนักท่องเที่ยวต้องไปขอรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนที่สนามบิน

ทัวริสต์ดัน “ค้าปลีก” โตพุ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการเติบโตของค้าปลีกและศูนย์การค้าขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกจึงพยายามผลักดันและต้องการปั้นให้เมืองไทยเป็น “ช็อปปิ้ง เดสติเนชั่น” หรือสวรรค์ของนักช็อป และการนำร่องเปิดจุดบริการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย 4-5 จุดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของภาคเอกชน และจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน เม.ย. 2561 นี้ จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจโตได้อย่างมาก และช่วยให้เม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวสามารถได้เงืนคืนทันทีและช็อปปิ้งได้ต่อ

เบื้องต้นคาดว่าจุดที่จะนำร่องเปิดให้บริการคือศูนย์การค้าดาวน์ทาวน์พารากอน-เซ็นทรัลเวิลด์-เกษร-เอ็มบาสซี่-เอ็มควอเทียร์

“ตอนนี้ผู้ประกอบการแต่ละค่ายต่างเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว อยากเปิดให้เร็วที่สุด ยิ่งเป็นช่วงก่อนสงกรานต์จะดีมาก เพราะเป็นหน้าขายและหน้าท่องเที่ยวของลูกค้าต่างชาติที่จะเข้ามาเยอะ”

สอดคล้องกับผู้บริหารแบรนด์สินค้าแฟชั่นลักเซอรี่รายหนึ่งที่กล่าวว่า หากศูนย์การค้าสามารถทำ Tax Refund สำหรับนักท่องเที่ยวได้เลยภายในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ดี สามารถกระตุ้นบรรยากาศจับจ่ายได้เพิ่มขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวจะรับรู้และบอกต่อว่าการซื้อสินค้าจากที่นี่ได้ราคาดี ปลอดภาษี เหมือนกับภาพลักษณ์ของฮ่องกง สิงคโปร์ ที่เป็นเมืองช็อปปิ้งปลอดภาษี

วางกรอบดีเดย์เมษาฯนี้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย หรือ Tax Refund ดังกล่าวนี้เป็นการทำงานร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านท่องเที่ยวและไมซ์ ซึ่งได้นำเรื่องไปประชุมร่วมกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เห็นด้วยในหลักการ พร้อมมอบหมายให้กรมสรรพากรไปดำเนินการ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำ Tax Refund ณ จุดขายต่อไป

โดยวางกรอบว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.นี้ในช่วงเริ่มต้นของโครงการนี้จะทดลองเปิดให้บริการประมาณ 3-4 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน เพื่อเป็นการทดลองระบบและดูผลตอบรับ จากนั้นจะมีการวัดผลอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไรในสเต็ปต่อไป

“สำหรับจุดให้บริการนั้น ห้างสรรพสินค้าจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งในหลักการก็จะเปิดให้คนที่พร้อมยื่นเสนอตัวเข้ามา จากนั้นทางกรมสรรพากรจะเป็นคนคัดเลือก โดยช่วงแรกจะเปิดรับห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯก่อน ส่วนเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ นั้นคงต้องรอดูผลตอบรับจากโครงการนำร่องนี้ก่อน”

กระตุ้นนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่ม

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสร้างระบบอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติและกระตุ้นการจับจ่าย รวมถึงเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีกแนวทางหนึ่ง เนื่องจากจะทำให้นักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ท่องเที่ยวต่อ นำเงินที่ได้จากการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนี้มาจับจ่ายซื้อสินค้าในพื่นที่ท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอีก

“ในเบื้องต้นที่คุยกันไปคือ ใบเสร็จซื้อสินค้าที่มีใบกำกับภาษีนั้นนักท่องเที่ยวสามารถของทำแท็กซ์รีฟันด์ได้หมด ส่วนจะได้ในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์นั้นอยู่ที่กรมสรรพากรจะกำหนดมา ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ 7% เท่ากับการไปขอคืนภาษีที่สนามบิน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวทางการผลักดันให้เกิดโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขายนั้น ได้เริ่มหารือกันตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ในยุคที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ที่ผ่านมาแม้กระทรวงการคลังจะเห็นชอบในหลักการ แต่ก็ยังติดที่ข้อกังวลเรื่องการป้องกันไม่ให้คนไทยบางกลุ่มที่เจตนากระทำผิด สวมรอยแอบแฝงชาวต่างชาติเพื่อซื้อสินค้าแบบไม่เสียภาษี โดยไม่นำสินค้าออกไปต่างประเทศจริงเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป

ปั้น Duty Free City

ขณะเดียวกันแหล่งข่าวค้าปลีกระดับสูงเปิดเผนเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากการเปิดจุด Tax Refund สำหรับนักท่องเที่ยวได้เลยในศูนย์การค้าแล้ว ขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาการทำ Duty Free City หรือเมืองปลอดภาษี ในพื้นที่เมืองพัทยาและภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ทั้งสนามบิน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

โดยอาศัยโมเดลเดียวกับที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้สูงขึ้น ต่อยอดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาต่อปีค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยการผลักดันร่วมกับทางท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้

“เรื่องนี้รองนายกฯ สมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) ได้ส่งทีมไปดูงานที่ต่างประเทศเพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางที่จะเข้ามาปรับใช้ในเมืองไทย ซึ่งจะได้เห็นต่อจากนี้ ซึ่งในมุมของธุรกิจค้าปลีกมองว่านอกจากจะเป็นผลดีต่อธุรกิจแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่จะมีรายได้เข้ามามากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้”

2 เดือนทดสอบระบบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ตามห้างสรรพสินค้านั้น ทางกระทรวงการคลังได้ตกลงกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า ให้จัดทำสนามทดสอบ (Sand-box) ให้ภาคเอกชนลงทุนทดสอบระบบ ใน 4 จุด ซึ่งอยู่ในเมืองตามห้างสรรพสินค้า ต่างจากปกติที่การคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวจะคืนตามสนามบิน

“จะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไหร่ก็ขึ้นกับทางเอกชนเขาพร้อมเมื่อไหร่ โดยผู้ควบคุมก็คือ กรมสรรพากร ทางเอกชนต้องเชื่อมระบบกับกรมสรรพากร ทั้งนี้ เขาก็มีการทดสอบกันมาประมาณ 2 เดือนแล้ว”

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า การคืนภาษีนักท่องเที่ยวนี้ ไม่ได้มีผลกระทบในแง่รายได้รัฐ เพราะจะคืนที่สนามบิน หรือคืนในเมืองก็มีค่าเท่ากัน เพียงแต่เป็นเรื่องที่จะต้องวางระบบให้ควบคุมให้ดี เพื่อป้องกันการรั่วไหลมากกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากรได้กำหนดคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ได้แก่ 1) ต้องไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย 2) ไม่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย 3) ไม่เป็นนักบิน หรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกประเทศไทย 4) เดินทางออกนอกประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ


5) ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว โดยสังเกตสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS ปิดแสดงไว้ที่ร้านค้า และ 6) ซื้อสินค้าในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานประกอบการแห่งละจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อวัน