ดนตรี EDM ก้าวข้ามนิชสู่ตลาดแมส ลุ้นแม็กเนตท่องเที่ยว-ปลุกเศรษฐกิจ

อาสิทธิ์ ประชาเสรี

สำหรับประเทศที่เน้นรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างประเทศไทย การสร้างแม็กเนตอื่น ๆ สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมนั้น ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“อาสิทธิ์ ประชาเสรี” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ณัฐรัฐโฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีระดับโลก โดยเฉพาะแนวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDM มานานกว่า 10 ปี อาทิ Together Festival, 808 Festival, Output Festival และอื่น ๆ เชื่อว่าเทศกาลดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเป็นหนึ่งในแม็กเนตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มายังประเทศไทยได้

สะท้อนจากงานในปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างงาน 808 Festival 2022 มีสัดส่วนผู้ชมชาวต่างชาติประมาณ 24% นอกจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีผู้ชมเดินทางข้ามโลกมาจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์, เยอรมนี ฯลฯ โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “อาสิทธิ์ ประชาเสรี” ถึงศักยภาพทางธุรกิจของเทศกาลดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแนวโน้มของวงการและทิศทางของบริษัทในปี 2566 นี้

Rock & Roll-POP ของคนยุคใหม่

“อาสิทธิ์” กล่าวว่า ปัจจุบันดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDM นั้นก้าวออกจากการเป็นแนวดนตรีเฉพาะกลุ่มที่เปิดในสถานบันเทิง หรือเปิดในหมู่วัยรุ่น ไปสู่การเป็นดนตรีกระแสหลักที่มีผู้ฟังทุกวัย จนอาจเทียบได้กับ Rock & Roll หรือ POP ของคนเจเนอเรชั่นปัจจุบันแล้ว สะท้อนจากปัจจุบันการออกอัลบั้มของศิลปินไม่ว่าระดับเอเชีย หรือระดับโลก ต่างก็มีเวอร์ชั่นของเพลงแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามออกมาด้วย ทำให้ฐานผู้ฟังขยายไปทั้งกลุ่ม Gen Z (เกิดปี พ.ศ. 2538-2552) และ Gen Y (เกิดปี พ.ศ. 2523-2537)

อีกจุดคือ ผลตอบรับของงาน 808 Festival 2022 ช่วง 9-11 ธ.ค. 65 ที่ไบเทค บางนา ซึ่งสามารถจำหน่ายบัตรได้หมด 100% ทั้งบัตรระดับ V.I.P. ที่มีราคาระดับแสน-ล้านบาท และขายหมดตั้งแต่ 2 เดือนแรกหลังประกาศจัดงาน รวมถึงบัตรธรรมดา รวมมีผู้ชมกว่า 19,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติถึงประมาณ 24% ซึ่งหลายรายลงทุนทั้งเงินและเวลาเดินทางมาไกลระดับนั่งเครื่องบินหลายสิบชั่วโมงอย่างสหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ เยอรมนี หรือกลุ่มในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา มาเลเซีย

สะท้อนถึงศักยภาพของงานในการดึงดูดผู้ชม และฐานผู้ชมที่ทั้งมีกำลังซื้อพร้อมลงทุนเพื่อมาร่วมงาน จึงมั่นใจว่าเทศกาลดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์มีศักยภาพสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล

“ฐานผู้ชมชาวต่างชาติปีนี้รับว่าเซอร์ไพรส์มาก เพราะจำนวนผู้ที่มาจากสหรัฐและยุโรปเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จะเป็นชาวเอเชีย อีกทั้งกลุ่มผู้ชมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงที่ซื้อตั๋ว V.I.P. ซึ่งเชื่อว่านอกจากมาชมดนตรีแล้ว ยังจะเดินทางท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในไทยด้วย แต่น่าเสียดายที่ไทยยังขาดแหล่งท่องเที่ยวที่จะให้คนกลุ่มนี้จับจ่ายใช้สอยในช่วงค่ำ-กลางคืน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มักไม่เที่ยวในแหล่งบันเทิงอย่างข้าวสาร หรือสีลม”

ทั้งนี้ นอกจากบริษัทแล้ว ช่วงปลายปี’65 ผู้จัดรายอื่น ๆ เริ่มกลับมาจัดงานไซซ์เล็ก ระดับผู้ชม 600-2,000 คน และไซซ์กลาง ระดับ 2,000-8,000 คนกันบ้างแล้ว ในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะช้าง ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่ช่วยสร้างความคึกคักและการรับรู้ให้กับดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์

ปี’66 นี้พาเหรด 5 งานรวด

ขณะเดียวกัน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ณัฐรัฐ โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางในปี’66 นี้ว่า จะต่อยอดกระแสตอบรับของงาน 808 Festival 2022 เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ด้วยจัดเทศกาลดนตรีจากทั้ง 3 แบรนด์ในมือ คือ Together Festival, 808 Festival และ Output Festival อย่างละ 1 งาน พร้อมกับคอนเสิร์ตอีก 2 งาน รวมเป็นอย่างน้อย 5 งาน

ส่วนงานไซซ์เล็กและไซซ์กลางที่เคยจัดต่อเนื่องตลอดทั้งปีนั้น ปีนี้จะต้องดูความพร้อมของศิลปิน รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเงื่อนไขต่าง ๆ ของทั้งไทยและต่างประเทศก่อน ทำให้เป้าหมายหลักของปีนี้คือ พยายามดึงจำนวนผู้ชมต่างชาติให้กลับมา มีสัดส่วน 30% เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่ยังทำต่อเนื่องคือ การพยายามมองหาศิลปินหน้าใหม่ที่มีความสามารถและเข้าให้การสนับสนุน เช่น เชิญมาจัดคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด ศิลปินดังหลายคนเราทำงานด้วยมาตั้งแต่ต้น ก่อนที่เขาจะมีชื่อเสียง โดยสมัยที่มาเล่นคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย แต่หลังจากนั้นก็พยายามสร้างตลาดเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันบริษัทสามารถเข้าถึงศิลปินดังหลายรายได้

“ในฐานะที่เป็น promoter การพยายามหาสิ่งใหม่เข้ามาเสนอในตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทย เมียนมา หรือสิงคโปร์ ซึ่งเราก็ทำมาแล้วทั้ง 3 ตลาด”

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสนิยมจะร้อนแรง แต่การจัดเทศกาลดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีความท้าทายด้วยเช่นกัน โดย “อาสิทธิ์ ประชาเสรี” อธิบายว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นหนึ่งในความท้าทาย หลังความผันผวนของค่าเงิน สภาพเงินเฟ้อ ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการจัดงานครั้งล่าสุดเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ซึ่งบริษัทจะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อคงราคาบัตรเข้างานเอาไว้ ไม่ให้กระทบกับแฟนเพลง