ห้าง-แบรนด์หรูดี๊ด๊า ขานรับแทกซ์รีฟันด์

ธุรกิจขานรับ “แทกซ์รีฟันด์” คืนเงินสดในห้าง ดันเม็ดเงินขาช็อปนักท่องเที่ยวสะพัดหลายรอบ หวังทันสงกรานต์รับไฮซีซั่นทัวริสต์ “พารากอน” ทยอยติดตั้งเครื่องรอแรงซื้อรูดปรื๊ด กลุ่ม “เซ็นทรัล” เล็งนำร่องลงเครื่องทั้งชิดลมและเอ็มบาสซีเพิ่มความสะดวก ด้านแบรนด์หรู-แฟชั่นดี๊ด๊ารับอานิสงส์

ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละค่ายต่างเตรียมความพร้อมติดตั้งจุดบริการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกันแล้ว ขานรับนโยบายโปรเจ็กต์ “คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย” หรือ Tax Refund โมเดลสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความสะดวกและเพิ่มเม็ดเงินจับจ่ายเช่นเดียวกับการช็อปปิ้งในต่างประเทศ โดยศูนย์การค้าพารากอนได้เริ่มทยอยติดตั้งเครื่องรองรับดีมานด์การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวแล้ว

“พารากอน” ทยอยติดเครื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ศูนย์การค้าสยามพารากอนได้เริ่มทยอยติดตั้งจุดบริการคืนเงินภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณชั้นจี ด้านหน้าซูเปอร์มาร์เก็ต “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” จุดเดียวกับที่ให้บริการออกใบสำเนาแท็กซ์รีฟันด์ที่นักท่องเที่ยวต้องไปขอรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนที่สนามบิน

ทั้งนี้ คาดว่าเบื้องต้นจุดที่จะนำร่องเปิดให้บริการ นอกเหนือจากศูนย์การค้าพารากอนแล้วนั้น จะมีเซ็นทรัลเวิลด์-เกษร-เอ็มบาสซี-เอ็มควอเทียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก สอดรับแนวทางของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ต้องการผลักดันเมืองไทยให้เป็น “ช็อปปิ้ง เดสติเนชั่น” ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของภาคเอกชน และจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน เม.ย. 2561 นี้ จะกลายเป็นแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจโตได้อย่างมาก และช่วยให้เม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวสามารถได้เงืนคืนทันทีและช็อปปิ้งได้ต่อ

“เซ็นทรัล” ทุกจุดกลางเมือง

Advertisment

แหล่งข่าวผู้บริหาร “กลุ่มเซ็นทรัล” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้มีการประชุมกันของกลุ่มค้าปลีกและภาครัฐเพื่อเร่งผลักดันร่วมกันสำหรับความพร้อมและขั้นตอนที่จะต้องร่วมกัน

อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ หรือติดขัดตรงไหนบ้างก็จะได้มาช่วยกันหาทางออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและส่งผลต่อการเติบโตของทั้งธุรกิจไม่ใช่แค่ค้าปลีกและศูนย์การค้าที่ได้ เพราะนักท่องเที่ยวมีเงินคืนทันทีก็ใช้ต่อได้อีกและเงินสะพัดหมุนรอบเศรษฐกิจหลายรอบ

Advertisment

ในส่วนของผู้ประกอบการก็ลุ้นและอยากเปิดให้ทันก่อนสงกรานต์ เพราะเป็นไฮซีซั่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนจีนมากันเยอะและซื้อเยอะ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยว FIT กลุ่มที่มาเอง เที่ยวเอง ก็มีการเติบโตสูงมาก ซึ่งกลุ่มนี้มีความน่าสนใจและต้องให้ความสำคัญเพราะอยู่นาน ซื้อจริง และมีเงิน

“ในใจกลางเมืองเซ็นทรัลน่าจะติดตั้งเครื่อง tax refund ในทุกศูนย์ อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลเอ็มบาสซี เราคงติดหมดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า”

แฟชั่น-แบรนด์หรูขานรับ

นายดนัย สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-ลิส คอร์ปอเรท จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าลักเซอรี่ อาทิ วาเลนติโน, โคลเอ้, จิมมี่ ชู กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากทางห้างและศูนย์การค้าสามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ทำแท็กซ์รีฟันด์และรับเงินคืนได้เลยภายในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ดีต่อบรรยาการการช็อปปิ้ง แต่อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรการลดภาษีนำเข้าเชื่อว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ (perception) ต่อบรรยากาศในการจับจ่ายภาพรวมของประเทศได้มากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถซื้อสินค้าได้ราคาดี ปลอดภาษีเหมือนกับภาพลักษณ์ของฮ่องกง สิงคโปร์ ที่เป็นเมืองช็อปปิ้งปลอดภาษี

นายสุชาติ ลายลักษณ์ศิริ กรรมการบริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายแฟชั่น อาทิ แอร์โรว์, กี ลาโรช,ลาคอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับภาคธุรกิจทั้งค้าปลีก แบรนด์ สินค้า ฯลฯ และยังขยายผลไปสู่เศรษฐกิจในท้องถิ่น และระดับประเทศ ที่จะมีรายได้เข้ามามากขึ้น เพราะนอกจากเรื่องของการคืนเงิน ให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว รัฐก็ยังมีนโยบายศึกษาการทำเมืองปลอดภาษีในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยกระตุ้นบรรยกาศการช็อปปิ้งมากขึ้นและนักท่องเที่ยวมีความสะดวกมากขึ้น

เดสติเนชั่น – พารากอนได้เริ่มทยอยติดตั้งแทกซ์รีฟันด์บริเวณชั้นจี ด้านหน้า “กูร์เมต์มาร์เก็ต” เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เงินคืนและช็อปต่อได้ทันที

ชงไม่หยุด “ลดภาษีนำเข้า”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่เรียกร้องต่อเนื่องสำหรับการให้ภาครัฐศึกษาและพิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าลักเซอรี่อย่างจริงจังเพื่อเป้าหมายการพัฒนาให้เมืองไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวครบวงจร โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง นาฬิกา หรือลักเซอรี่แบรนด์ เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดทางรุกร้านปลอดภาษีในสนามบินที่กลุ่มค้าปลีกเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องถึงการที่ต้องไม่ปิดกั้น

ผู้ประกอบการรายอื่นให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินและพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนและให้รัฐสามารถสร้างรายได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตค้าปลีกปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เพียง 2.8-3.0% อยู่ในระดับทรงตัว เกือบทุกหมวดสินค้าการเติบโตกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักที่มีนักท่องเที่ยวขับเคลื่อน ขณะที่กำลังซื้อในประเทศโดยรวมยังมีปัญหาบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่ปกติ ขณะเดียวกันราคาสินค้าที่มีต้นทุนจากภาษีนำเข้าของแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับราคาแข่งขันในต่างประเทศ