โควิดยุคนิวนอร์มอล หลบภูมิเก่งติดง่าย ย้ำวัคซีนคือทางออก

โควิด

“หมอยง” เผยแนวทางใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ในยุคนิวนอร์มอล ปี 2566 ชี้ต้องอยู่ร่วมกับโควิดตลอดไป หลังไม่มีวัคซีนใดกันติดได้ พร้อมจับตาสายพันธุ์ XBB.1.5 เหตุหลบภูมิเก่ง-ระบาดง่าย แนะฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ส่วนผู้ต้องการกระตุ้นเข็ม 6 ให้รอช่วงระบาดเดือน มิ.ย.

ขณะนี้มีแนวโน้มชัดเจนว่า ปี 2566 นี้ไทยและทั่วโลกจะเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล กันอย่างแท้จริง หลังแต่ละประเทศรวมถึงจีนต่างเปิดรับการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประชาชนและชาวต่างชาติอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันการผ่อนคลายนี้ทำให้ความกังวลเรื่องการระบาด และการฉีดวัคซีนกลับมาด้วยเช่นเดียวกัน

นพ.ยง ภู่วรวรรณ

โดยในงาน A New Normal with Covid-19 in 2023 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 และการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลในปี 2566 ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ มนุษยชาติจะต้องอยู่กับโควิด-19 ตลอดไป เนื่องจากผลการศึกษาสะท้อนชัดเจนว่าขณะนี้ไม่มีวัคซีนตัวใดสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะฉีดกี่เข็มก็ตาม

เพราะสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเป้าหมายของการฉีดวัคซีน คือ การลดความรุนแรงของอาการป่วยและป้องกันการเสียชีวิต

สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมในขณะนี้ให้เน้นจำนวนครั้ง โดยต้องฉีดอย่างน้อย 3 ครั้ง แบ่งเป็น 2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือนก่อน แล้วกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เนื่องจากการวิจัยพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนครั้งที่ 4 ไม่มีความแตกต่างกันไม่ว่า 3 ครั้งแรกจะเป็นการฉีดวัคซีนแบบเชื้อตายหรือแบบ mRNA ในสูตร-ลำดับใดมาก่อนก็ตาม

ส่วนผู้ที่ฉีดครบ 3 ครั้งแล้ว หากจะกระตุ้นอีก 1 ครั้งให้เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และสำหรับผู้ที่ต้องการจะฉีดครั้งที่ 6 แนะนำให้รอเดือน มิ.ย. ที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่

ด้านการตรวจ ATK ซึ่งมีความกังวลว่า อาจไม่สามารถตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้นั้น หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกฯ ยืนยันว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสไม่กระทบต่อประสิทธิภาพของการตรวจ ATK เนื่องจากเป็นการตรวจหาโปรตีน nucleocapsid ซึ่งเป็นคนละส่วนกับโปรตีนหนามที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ ทำให้การตรวจ ATK ยังตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสายพันธุ์ XBB.1.5 ซึ่งกำลังระบาดในประเทศตะวันตกและมีโอกาสจะเข้ามาระบาดในไทยตามการเดินทางระหว่างประเทศ เนื่องจากสายพันธุ์นี้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้ดีมาก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อได้ง่าย

ทั้งนี้แม้โรคโควิด-19 จะติดเชื้อซ้ำได้ง่าย แต่ตามสถิติพบว่า ความรุนแรงของอาการป่วยเมื่อติดเชื้อซ้ำลดลง ไม่ว่าจะเป็นอาการหนาวสั่น ปวดหัว ฯลฯ จะน้อยกว่าครั้งแรกมาก มีเพียงอาการไอและคัดจมูกที่ใกล้เคียงการติดครั้งแรก

พร้อมกันนี้ นพ.ยงย้ำว่า การรับมือโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ไทยอยู่ในฐานะผู้ผลิตไม่ใช่ผู้บริโภค เพราะขณะนี้ไทยมีความพร้อมทั้งเงินทุนและเครื่องมือ ขาดเพียงบุคลากรที่มีความสามารถ