สคบ.เตือนระวังฉ้อโกงออนไลน์ สถิติ “สินค้าไม่ตรงปก-ทำสวย” ตัวเลขพุ่ง

ซื้อของออนไลน์

ตีกรอบโฆษณาเข้าข่ายหลอกลวง-พิสูจน์ได้ยาก สคบ.ออกโรงเตือนระวังออนไลน์ฉ้อโกง เปิดสถิติร้องเรียน “ซื้อสินค้าออนไลน์-สายการบิน-ความสวยความงาม” ท็อปทรี เจอเบาะแสร้องเรียนด่วน ทั้ง โทร. 1166 และออนไลน์ ผนึกกำลังตำรวจ-กระทรวงดีอีเอส ตัดต้นตอ ฮึ่ม! โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา สำหรับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ. 2565 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เปิดสถิติร้องเรียนโฆษณาเท็จ

พันตำรวจเอกประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และโฆษก สคบ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยโฆษณาฉบับนี้ออกมาดังกล่าว เป็นการอัพเดตประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาที่มีหลายฉบับให้ทันสมัยและทันกับสถานการณ์ของสื่อในปัจจุบันที่มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งสื่อออนไลน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเป็นการรวบรวมประกาศหลายฉบับมารวบไว้ในฉบับเดียว ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการทำบัญชีแนบท้ายเพิ่มเติม ตัวอย่างข้อความโฆษณาที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะเป็นข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์

อาทิ บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า ขอสงวนสิทธิ์ปัดเศษส่วนลดขึ้น โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า, เมื่อใช้แล้วจะเห็นผลทันที, เห็นผลภายใน 7 วัน, ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน, ยอดขายอันดับ 1, ผ่านมาตรฐานจากสถาบันการทดสอบจากต่างประเทศ รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา, เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการทำโฆษณา

“หลักการโฆษณาที่ สคบ.ยึดเป็นแนวทางการก็คือ ต้องโฆษณาที่เป็นธรรม เช่น โฆษณาว่าขายปากกาสีน้ำเงิน และคนซื้อหรือลูกค้าก็อยากได้ปากกาสีน้ำเงิน คนขายก็ต้องส่งปากกาสีน้ำเงินให้ตามโฆษณา ไม่ใช่ส่งปากกาสีแดงให้ หรือพูดง่าย ๆ ว่าสินค้าต้องตรงปก”

โฆษก สคบ.ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องโฆษณาเข้ามาที่ สคบ.เป็นจำนวนมาก เช่น ปี 2565 ที่ผ่านมา มีมากถึง 2,764 เรื่อง จากปี 2564 มีเรื่องร้องเรียน 4,592 เรื่อง และหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ และความสวยความงาม เช่น ทำจมูก เสริมหน้าอก ฉีดฟิลเลอร์ ฯลฯ แล้วมีปัญหาและอีกเรื่องหนึ่งที่มีการร้องเรียนมากในปี 2564 คือ การจองตั๋วเครื่องบิน หรือสายการบินที่ไม่ปฏิบัติตามที่โฆษณาไว้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการร้องเรียนดังกล่าว ที่ผ่านมา สคบ.ได้เคลียร์และยุติเรื่องไปได้ประมาณ 70-80% ส่วนบทลงโทษว่าด้วยการโฆษณา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เตือนระวังภัยออนไลน์ฉ้อโกง

รองเลขาธิการ สคบ.ยังย้ำเตือนด้วยว่า สำหรับการซื้อขายออนไลน์ที่เป็นการหลอกลวงที่ควรสังเกต หลัก ๆ สคบ.จะแยกเป็น 2 ส่วนคือ กรณีที่ผู้ประกอบการที่มีเจตนาที่จะค้าขายจริง มีสินค้าจริง ตรงนี้ไม่ค่อยกังวลสคบ.มักจะเจรจายุติเรื่องได้ ไกล่เกลี่ยได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ขายที่ไม่ได้มีเจตนาขายจริง แต่ก็มาสร้างแพลตฟอร์มบนอากาศ ทำร้านค้าบนอากาศ บนออนไลน์ คนเหล่านี้เขาไม่ได้มีเจตนาขายสินค้า แต่มีเจตนาจะหลอกลวง ซึ่งหลัง ๆ มานี้มีการร้องเรียนเข้ามามาก ยกตัวอย่าง ไม่ได้สั่งซื้อสินค้า แต่มีสินค้ามาส่งถึงหน้าบ้านและมีการเก็บเงินปลายทาง หรือสั่งซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า เป็นต้น

กรณีนี้เป็นการฉ้อโกงทางออนไลน์ มีความผิดทางอาญาด้วย ซึ่ง สคบ.ก็ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อที่จะปิดเว็บไซต์และตัดกระบวนการ แต่ก็ยอมรับว่าการตรวจสอบอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะทุกวันนี้คนที่จะโกงมักจะมีการทำหรือหลอกลวงเป็นขบวนการ มีการทำบัญชีม้า บัญชีผี บางกรณีผู้ประกอบการรายเดียวมีสินค้าแค่ไอเท็มเดียวก็อาจจะมีการหลอกลวงได้เป็น 100 เป็น 1,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาพอสมควร และเรื่องที่มีร้องเรียนเข้ามามากก็มีโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม การเคลมเรื่องราคาสินค้าที่สูงเกินความจริง

ปชส.เชิงรุกป้องกันถูกหลอก

โฆษก สคบ.ย้ำว่า ภารกิจของ สคบ.ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การบรรเทาความเดือดร้อน การเจรจาไกล่เกลี่ย ฯลฯ ซึ่งท่านเลขาธิการ สคบ. นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ มีนโยบายให้เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ไม่ให้มีการหลอกลวง ไม่ให้มีการเอาเปรียบ ถ้าประชาชนรับรู้มากเท่าไหร่ เขาก็มีโอกาสที่จะถูกหลอกลวง หรือถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยเท่านั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการที่ให้ความรู้กับประชาชน ให้ความรู้ผู้บริโภค ได้รับทราบถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการรับข่าวสารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มีสิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าโดยอิสระตามความต้องการ

“จริง ๆ แล้วกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้อยู่ที่ สคบ.เพียงหน่วยงานเดียว แต่ สคบ.คือหน่วยกลางในการดูภาพรวม เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคมีหลายมิติ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็มีหน้าที่การคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของอาหารและยา ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็จะดูว่าสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับ สคบ.ยินดีที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ทุกเรื่อง และจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อถ้ามีเบาะแส หรือมีข้อมูลต่าง ๆ ที่อยากจะร้องเรียน สามารถร้องเรียนมาที่ 1166 สายด่วน สคบ. (ในเวลาราชการ) นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค สคบ.ยังได้เพิ่มช่องทางการร้องเรียนด้วยการเปิดการรับการร้องเรียนร้องทุกข์ทางออนไลน์ด้วย ซึ่งการแจ้งเบาะแสดังกล่าว สคบ.ก็จะเก็บข้อมูลผู้แจ้งไว้ เพื่อที่จะไม่ให้ผู้แจ้งได้รับความเดือดร้อน”

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการอุตสาหกรรมโฆษณาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับใหม่นี้ ในทางปฏิบัติไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของผู้ประกอบการโฆษณาแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเอง รวมถึงเจ้าของธุรกิจ หรือสินค้าเองก็มีความเข้าใจและได้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาฉบับเดิม ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

และปัจจุบันนอกจากโลกของการโฆษณาจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยมีสื่อใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นสื่อออนไลน์ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ประกอบธุรกิจที่แฝงตัวเข้ามาหาผลประโยชน์จากตรงนี้ โดยเฉพาะประเภทสีเทา ซึ่งช่วงหลัง ๆ มานี้พบว่ามีการหลอกลวงด้วยการโฆษณาเกิดขึ้นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีการใช้ข้อความในการโฆษณาที่เข้าข่ายเป็นเท็จ เกินความจริง และทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้