ถึงเวลารพ.ปรับตัว “BDMS” เชื่อมข้อมูล เชื่อมการรักษา ชูนำเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยการเเพทย์

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายบุรณัชย์ ลิมจิตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านการตลาดต่างประเทศ บริษัท กรุงเทพดุสิต เวชการ จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเครือบีดีเอ็มเอส บรรยายพิเศษ Embracing The digital World of Health ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561

โดยบุรณัชย์ กล่าวว่า การขยายตัวของสื่อดิจิทัลส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รูปแบบการทำงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้กับธุรกิจมากขึ้น ภายใต้แนวคิดหลัก คือ เชื่อมการรักษา เชื่อมข้อมูล เชื่อมความรู้ความสามารถเพื่อให้ได้ข้อมูลและการรักษาที่ดี

สำหรับแนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ 3ปี ก่อน ด้วยการเก็บข้อมูลด้านการรักษาผู้ป่วยของรพ.ในเครือทั้งหมดแบบรายวันและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ มีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และบริการ โดยปัจจุบันมี 45โรง 8,031 เตียงรวม 7 แบรนด์ทั้งในไทยและกัมพูชา เช่น สมิติเวช กรุงเทพ เปาโล เป็นต้น

ขยายต่อด้วยการตั้งศูนย์บริการฉุกเฉินตลอด 24ชั่วโมงภายใต้ชื่อ ‘BDMS Alarm Center’ โดยสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านคอลเซ็นเตอร์หมายเลข 1724 ตลอดเวลา และมียานพาหนะออกไปรับผู้ป่วยเข้ามารักษาได้ทันท่วงที ทั้ง เรือ เครื่องบิน และรถฉุกเฉิน อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำในต่างประเทศในหลากหลายด้านเพื่อแบ่งปันข้อมูล ผลงานวิจัยต่างๆ เช่นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ MD Aderson cancer center, การแบ่งปันงานวิจัยต่างๆร่วมกับ OHSU ในอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงยังส่งต่องานวิจัยต่างๆที่ได้จากความร่วมมือจากโรงพยาบาลชั้นนำ ในต่างประเทศให้แก่โรงพยาบาลของรัฐบาลด้วย เช่น ศิริราช รามาธิบดี มหิดล เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน บีดีเอ็มเอส นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในทุกส่วนของขั้นตอนการรักษาผู้ป่วย ตาม เส้นทางการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย หรือ Customer Journeyด้วยการนำระบบIOT ( Internet of thing), AI(Artificial Intelligence)เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ‘เส้นทางการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยเริ่มจากเดินเข้ามาที่รพ. ทำประวัติคนไข้ พบแพทย์ ตรวจหาความผิดปกติด้วยการเข้าห้องแลป หรือใช้เครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วยวินิจฉัย ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลตลอด

สุดท้ายแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะรักษาด้วยวิธีการใด ซึ่งท้ายที่สุดแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่การรักษาและวินิจฉัยโรคก็ต้องขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจร่วมระหว่างแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วยร่วมกัน ซึ่งบริษัทแค่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การรักษาดีขึ้น”
ชมคลิปเต็ม  คลิกที่นี่>>> https://www.youtube.com/watch?v=A5jO52i6GOA
 ชมคลิป คลิกที่นี่