“ช้าง” ยึดเบียร์พรีเมี่ยมแมส ทุ่มพันล้านหนุน “โคลด์บรูว์”

เบียร์

ช้างมั่นใจเบียร์พรีเมี่ยมแมสโตแรง ชี้คอเบียร์เปลี่ยนพฤติกรรมหันดื่มเพื่อผ่อนคลาย ช้างโคลด์บรูว์ยึดตลาด พร้อมทุ่มงบฯ 1,000 ล้านบาท อัดกิจกรรม-
มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง ขยายช่องทางจำหน่ายโฟกัสร้านชำ-โชห่วยทั่วประเทศ

นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงทิศทางตลาดเบียร์ในปี 2566 นี้ว่า ตลาดเบียร์มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน ด้วยมีสัญญาณบวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนร้านค้าและร้านอาหาร-ผับ บาร์ที่มีจำนวนมากกว่าก่อนโควิดระบาดแล้ว เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และชาวไทยที่หันกลับมาดื่มเบียร์นอกบ้านมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (year to date) ตลาดโตขึ้น 7% แล้ว

โดยท่ามกลางการฟื้นตัวนี้ เบียร์ระดับพรีเมี่ยมแมสซึ่งราคาสูงกว่าเบียร์ทั่วไปประมาณ 5-8% จะเป็นเซ็กเมนต์ที่จะเติบโตอย่างโดดเด่น รวดเร็ว และมีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัวจากสัดส่วน 15% ของตลาดรวม หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบันไปเป็น 20% ของตลาดรวมภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยเริ่มทำงานและวัยทำงานหันมาดื่มเบียร์เพื่อผ่อนคลายหรือดื่มระหว่างการพักผ่อนมากขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แตกต่างจากเดิมที่จะเน้นดื่มเพื่อความสนุกสนานในงานสังสรรค์หรือผับบาร์ ทำให้ความต้องการเบียร์ที่ดื่มง่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

“เทรนด์ดื่มเบียร์ระหว่างผ่อนคลายหรือ Chillax นี้เป็นจังหวะสำคัญของธุรกิจเบียร์ และจะคงผลักดันให้ตลาดพรีเมี่ยมแมสเติบโตโดดเด่นต่อเนื่องอีกหลายปี หลังก่อนหน้านี้ในงานดนตรีใหญ่ ๆ นั้นความนิยมเพลงแนวผ่อนคลาย-ฟังสบายสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการดื่มเบียร์ในหมู่เพื่อนฝูงที่มีภาพผ่อนคลาย-สบาย ๆ มากขึ้น ทำให้เซ็กเมนต์พรีเมี่ยมแมสเติบโต 10% ในปีที่ผ่านมา”

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของช้างกล่าวต่อไปว่า เพื่อสร้างการเติบโตและชิงความได้เปรียบในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมแมสที่กำลังเติบโต ในปี 2566 นี้ บริษัทจะใช้เบียร์ “ช้าง โคลด์บรูว์” เป็นหัวหอกชิงผู้บริโภคกลุ่มพรีเมี่ยมแมส พร้อมอัดงบฯการตลาด 1 พันล้านบาท โฟกัสการจัดกิจกรรมในช่องทางต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดนตรีและคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขาย

ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วย-ร้านชำ เพิ่มจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งจำกัดการขายเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย และกรุงเทพฯ รวมถึงขายผ่านร้านอาหาร-ผับ บาร์ และโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก เพื่อเร่งสปีดการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะร้านค้าปลีกดั้งเดิมเป็นช่องทางใหญ่ที่ครอบคลุมถึง 80% ของตลาดเบียร์ในไทย

พร้อมกันนี้จะสื่อสารเน้นย้ำจุดขายด้านความพรีเมี่ยมของสินค้า อย่าง การผลิตด้วยกระบวนการผลิตและวัตถุดิบ ซึ่งจากการวิจัยตลาดในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดีและกลุ่มตัวอย่างถึง 63% ต้องการซื้อซ้ำอีก และการสื่อสารถึงนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่จะสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งพฤติกรรมการดื่มเบียร์และความสนใจในนวัตกรรมของผู้บริโภคชาวไทย เห็นได้จากความสำเร็จของแพ็กเกจถังเบียร์ 5 ลิตร ซึ่งสินค้าหมดสต๊อกอย่างรวดเร็ว และกล่องแบบ 25 กระป๋อง ที่กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์

โดยช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 นี้ จะเปิดตัวนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งแบบใหม่อีกครั้ง เพื่อสร้างความคึกคักให้กับหน้าขายปลายปี “การขยายช่องทางจำหน่ายในร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะเป็นหัวใจสำคัญของแผนบุกตลาดพรีเมี่ยมแมสในปีนี้ เพราะจากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคทำให้รู้ว่า สาเหตุหลักที่ผู้บริโภคยังไม่เคยลองดื่มช้างโคลด์บรูว์ นั่นเป็นเพราะหาซื้อยาก และไม่มีขายในร้านโชห่วย-ร้านชำใกล้บ้าน”


ทั้งนี้ นายเลสเตอร์ ตัน ย้ำว่า ตั้งเป้าให้ ช้าง โคลด์ บรูว์ มาช่วยผลักดันสัดส่วนรายได้ของพอร์ตเบียร์พรีเมี่ยมแมสเป็น 15% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงเลขหลักเดียว