ปังเวอร์ BNK48 ค่าตัวทะลุล้าน สินค้าชิงพรีเซ็นเตอร์เจาะพลังซื้อ “โอตะ”

บทพิสูจน์คีย์ซักเซสธุรกิจเพลง “โรส อาร์ทิสท์ฯ” ปั้นกระแสไอดอลกรุ๊ป ปังเวอร์ แหวกแนวทางหารายได้จากธุรกิจยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น เดินหน้าสร้างพลังฐานขยายแฟนคลับจากนิชมาร์เก็ตสู่ผู้ฟังกลุ่มแมส หวังต่อยอดสู่การจัดแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ในอนาคต ขณะที่พลังโอตะดัน “บีเอ็นเค 48” ฮอตติดลมบน แบรนด์เล็ก-ใหญ่ดาหน้าแย่งขอเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าสุดคึกคัก ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น กล้อง รถ ส่งค่าตัวพุ่งแตะ 7 หลัก พลังโซเชียลมีเดีย และความนิยมจากฐานแฟนคลับ กลายเป็นคีย์ซักเซสหลักของธุรกิจเพลงไทยในการตีฝ่าวงล้อม

กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ หนึ่งนั้นในคือกระแสไอดอลกรุ๊ป “บีเอ็นเค 48 (BNK 48)” กับเพลงฮิตติดหู “คุกกี้เสี่ยงทาย” พร้อมท่าเต้นใส ๆ ก็เพิ่มสีสันให้แก่ธุรกิจเพลงไทย พร้อมกับบทพิสูจน์ว่า ธุรกิจเพลงยังไม่ถึงทางตัน

เปิดเกมใหม่ “ธุรกิจเพลง”

นายจิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดลดังกล่าวถูกพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในตลาดเพลงญี่ปุ่น ในนาม “เอเคบี 48” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่สำคัญคือ สามารถสร้างรายได้ให้กับต้นสังกัดอย่างเป็นกอบเป็นกำ

โดยวัดจากยอดขายแผ่นซีดี และสินค้าเมอร์แชนไดส์ของศิลปิน ซึ่งบริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท เอเคเอส จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้บริหารไอดอลกรุ๊ปอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด โดยโรส อาร์ทิสท์ฯถือหุ้น 51% และเอเคเอส 49% เพื่อขยายความสำเร็จของโมเดลเพลงจากญี่ปุ่นสู่ไทยและตลาดเพลงในอาเซียน

วางกลยุทธ์แน่นสร้างฐานโอตะ

นายณัฐพล บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์สร้างแบรนด์ บีเอ็นเค 48 ให้แข็งแกร่ง เริ่มตั้งแต่ช่วงแรก ปูทางสร้างการรับรู้ ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคว่า บีเอ็นเค 48 คืออะไร ด้วยการสร้าง “BNK 48 ดิจิทัลไลฟ์ สตูดิโอ” ที่เอ็มควอเทียร์ หรือที่บรรดาแฟนคลับเรียกว่า “ตู้ปลา” เพื่อให้ศิลปินได้ไลฟ์สด ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลฟ์ บรอดแคสต์ ต่าง ๆ กลายเป็นพลังหลักสร้างฐานแฟนคลับได้อย่างรวดเร็ว

“กระแสดิจิทัล โซเชี่ยลเป็นตัวส่งให้ บีเอ็นเค 48 เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทวางไว้ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น ทิศทางของบริษัทก็ต้องมุ่งให้ความสำคัญกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่สร้าง “ตู้ปลา” ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ไอดอลกรุ๊ปได้ฝึกฝนทักษะ ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้เหล่าแฟนคลับสามารถติดตามไอดอลกรุ๊ปได้อย่างใกล้ชิด”

ขยายฐานผู้ฟังกลุ่มแมส

ขณะที่สเต็ปที่ 2 ที่กำลังเกิดขึ้น คือ การขยายฐานแฟนคลับจากนิชมาร์เก็ตไปสู่กลุ่มแมส เพื่อให้เกิดฐานแฟนคลับหลากหลายขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยวางแนวทางไว้ตั้งแต่เริ่มต้น คือ การปล่อยซิงเกิลที่ 2 ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น อย่าง “คุกกี้เสี่ยงทาย” เมื่อเพลงถูกปล่อยไปก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี และสร้างให้ฐานแฟนคลับกว้างขึ้น เพราะทุกคนรู้จักเพลงนี้ ตามด้วยเดินหน้าออกอีเวนต์ โรดโชว์ต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้คนรู้จักในวงกว้าง ตอกย้ำแบรนด์ บีเอ็นเค 48 ให้แข็งแกร่ง

“ทุกกลยุทธ์ที่วางไว้ถูกเชื่อมโยงเข้ากัน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ สะสมฐานแฟนให้มากที่สุด และขยายฐานสู่กลุ่มแมสมาก เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายใหญ่ คือ การเปิดการแสดงใหญ่ที่สนามราชมังคลาฯที่จุได้ 60,000 คน แต่จะเริ่มเมื่อไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับพลังของฐานแฟนคลับว่าจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน”

นายณัฐพลย้ำว่า ฐานแฟนคลับที่แข็งแรงมีผลต่อธุรกิจบันเทิงอย่างมาก ซึ่งบีเอ็นเค 48 เกิดและโตมาพร้อม ๆ กับฐานแฟนคลับ ถือเป็นฐานสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนผ่านเครื่องมือการตลาดหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะการซื้อสินค้าเมอร์แชนไดส์ ซึ่งเป็นรายหลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% รองมาคือ พรีเซ็นเตอร์ สปอนเซอร์ 40% และอีเวนต์ 20% ของรายได้รวม

สินค้ารุมแย่งพรีเซ็นเตอร์

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวต่อว่า ด้วยกระแสบีเอ็นเค 48 ที่ได้รับความนิยม ส่งผลให้มีสินค้าหลายแบรนด์ติดต่อเข้ามาเพื่อให้บีเอ็นเค 48 เป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ ขณะนี้ก็เกือบครบแล้ว เช่น เอพีฮอนด้า ฟูจิฟิล์ม ยาโยอิ เป็นต้น และมีอีก 2-3 แบรนด์เตรียมลอนช์เร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยสมาชิกวงบีเอ็นเค 48 ที่มี 16 คน การเลือกพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าแต่ละแบรนด์ บริษัทจะพิจารณาจากแคแร็กเตอร์ของสมาชิกแต่ละรายว่า เหมาะสมกับสินค้าประเภทใด ซึ่งจะกระจายงานให้สมาชิกทุก ๆ คนในวง

“สมาชิกทุกคนจะมีงานพรีเซ็นเตอร์ทุกคน หลัก ๆ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แพ็ก 6 คน และทั้งทีม 16 คน โดยราคาค่าพรีเซ็นเตอร์ก็แตะถึง 7 หลัก มีอายุสัญญา 1 ปี หรือ 6 เดือน แล้วแต่เจ้าของแบรนด์กำหนด”

ต่อยอด “ละคร-หนัง”

นอกจากนี้ เตรียมต่อยอดการบริหารศิลปินสู่งานแสดง ทั้งละครและภาพยนตร์จะพิจารณาจากศักยภาพของสมาชิกในวงแต่ละคน ล่าสุด “เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ” จะมีผลงานภาพยนตร์คาดว่าจะเข้าฉายปลายปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทร่วมกับช่องทีวีดิจิทัลผลิตรายการร่วมกันมากขึ้น จากเดิมที่บริษัทเป็นผู้ผลิตและขายโฆษณาเอง ปัจจุบันมีรายการที่ออนแอร์อยู่ 2 รายการ คือ AITAKATTA ! NIPPON ตามรอยสถานที่จริงที่ปรากฏในฉากอนิเมะต่าง ๆ กับสมาชิก BNK48 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.00-22.30 น. ช่องอมรินทร์ทีวี และ The Journey ช่องเอ็มคอท 30 เอชดี

ปั้น “เดอะแคมปัส” สร้างลอยัลตี้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเตรียมเปิดตัว เดอะแคมปัส (The Campus) บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ชั้น 4 เดอะมอลล์บางกะปิ คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะมีการแสดงโชว์ของบีเคเอ็น 48 ที่หมุนเวียนกันมาแสดงทุกวันเสาร์ อาทิตย์ รวม 3 รอบ ร้านอาหาร คาเฟ่ และจุดจำหน่ายสินค้าเมอร์แชนไดส์ ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ลอยัลตี้อย่างต่อเนื่อง

“แม้บริษัทจะซื้อลิขสิทธิ์ไอดอลกรุ๊ปมาจากญี่ปุ่นแต่ก็มีการบริหารจัดการให้สอดรับกับวัฒนธรรมของแฟนคลับไทย เพื่อให้แฟนคลับไม่รู้สึกอึดอัด แต่ก็ยังคงแก่นหลักของ เอเคบี 48 ที่ญี่ปุ่นวางไว้ นั่นคือ งานจับมือ”

ถึงเวลาเฟ้นหาเจเนอเรชั่น 2

ล่าสุดบริษัทได้ปิดรับสมัคร บีเอ็นเค 48 เจเนอเรชั่น 2 ไปแล้ว โดยมีผู้สนใจเข้าสมัครถึง 10,700 คน เพิ่มจากเจเนอเรชั่นที่ 1 ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมสมัคร 1,352 คน ขณะที่ขั้นตอนต่อไปคือคัดเลือกให้เหลือ 300 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายณัฐพลกล่าวอธิบายถึงขั้นตอนการคัดเลือกว่า ครั้งนี้จะคัดจาก 10,700 คน ให้เหลือ 300 คน แล้วจะคัดอีกครั้ง เพื่อหาเจเนอเรชั่น 2 ยกตัวอย่างเช่น เจเนอเรชั่น 1 มี 16 คน บริษัทอาจจะคัดเจเนอเรชั่นที่ 2 อีก 30 คน เข้ามารวมกับเจเนอเรชั่น 1 เท่ากับว่าจะมีทั้งหมด 56 คน โดย 1 ปีมีแผนจะออก 3-4 ซิงเกิลใหม่ ก็จะคัดเลือก 16 คน จาก 56 คน มาออกซิงเกิลที่ 1 ซิงเกิลที่ 2 ตามลำดับ ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกจากหลาย ๆ ด้าน ทั้งศักยภาพของศิลปิน ความสามารถ ทัศนคติ และฐานแฟนคลับของสมาชิกแต่ละคนด้วย