
อย.และแพทย์หลายรายเตือน พบคุกกี้ผสม THC ทำแพ็กเกจเลียนแบบแบรนด์ดัง มี THC สูงถึง 600 มก. หลังเกิดเคสเด็กกินแล้วป่วยต้องหามเข้า รพ.ทั้งในภาคใต้-กทม.
วันที่ 29 มีนาคม 2566 นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้ตรวจสอบข่าวเด็กรับประทานคุกกี้ผสม THC แล้วมีอาการเจ็บป่วยหนักที่โรงพยาบาลแถวภาคใต้ โดยคุกกี้ “Twix Chocolate sand THC 600 MG PER BAG PER 2 COOKIES” ที่ปรากฏในข่าวนั้น ไม่พบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์ และไม่พบการนำเข้า ณ ด่านอาหารและยาเช่นกัน
นอกจากนี้จากการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางร้านค้าออนไลน์ ไม่พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงคาดว่าเป็นการลักลอบนำเข้า
โดยความเคลื่อนไหวของ อย.ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า พบขนมคุกกี้ผสมสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งพบในกัญชา มีฤทธิทำให้มึนเมา ในปริมาณสูงถึง 600 มิลลิกรัมต่อ 2 ชิ้น วางขายในพื้นที่ภาคใต้ของไทย
พร้อมทั้งระบุว่า มีเหตุเยาวชนทานคุกกี้ชนิดนี้แล้วเกิดอาการป่วยจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tatchanapong Chongcharoenyanon ซึ่งเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เปิดเผยว่า พบเคสเด็กอนุบาลป่วยจากการทานขนมตัวเดียวกันนี้ในพื้นที่ กทม.เช่นกัน
ด้านเพจ Drama-addict โพสต์ภาพของขนมดังกล่าว รวมถึงขนมผสมกัญชาอีกหลายชนิดที่ต่างทำแพ็กเกจจิ้ง และตั้งชื่อคล้ายกับขนมแบรนด์ดัง เช่น Stoneo, Medicated Sour Skittles เป็นต้น พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า อาจมีผู้หิ้วเข้ามาจำหน่าย เนื่องจากกฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะสาร CBD เท่านั้น

ทั้งนี้ นพ.วิทิตย้ำว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายจัดเป็นอาหารที่ต้องได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร ซึ่งต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย โดยมีปริมาณสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (THC) อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค (THC ต้องไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อขวด/กล่อง/ซอง) และเข้มงวดในการพิจารณาสูตรส่วนประกอบ รวมทั้งผลตรวจพิสูจน์ปริมาณ THC
รวมถึงฉลากผลิตภัณฑ์ต้องแสดงข้อแนะนำการบริโภคเพื่อความปลอดภัย เช่น “ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ (ขวด/กล่อง/ซอง)” และแสดงข้อความคำเตือนที่เห็นได้ชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ได้แก่
“เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
“หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
“ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน”
“อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
นอกจากนี้ อย.ได้ดำเนินแผนเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังคุณภาพและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และดำเนินคดีกับผู้ผลิตอาหารผิดมาตรฐาน

รองเลขาธิการ อย. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง และอ่านฉลาก ว่ามีกัญชาเป็นส่วนประกอบหรือไม่ ชื่ออาหารต้องมีคำว่า “กัญชา” หรือ “กัญชง” หรือชื่อส่วนของกัญชาหรือกัญชงที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร
ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร และเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคและข้อความคำเตือนที่แสดงบนฉลาก