“คาราบาว” คึกทุ่มขยายธุรกิจ รุกจัดจำหน่ายต่อยอดชูกำลัง

“คาราบาว” ติดลมรับกระจายสินค้า ทุ่มลงทุนระบบอัพเกรดเน็ตเวิร์ก 2.2 แสนร้านค้า เปิดโอกาสต่อยอดสินค้าโอว์นแบรนด์ หลังซุ่มปั้นกว่า 10 รายการเทสต์ตลาด ก่อนเตรียมจับมือรายใหญ่อีคอมเมิร์ซผุด drop-off ที่รับสินค้า พร้อมเล็งตั้งโรงงานผลิตกาแฟกระป๋อง ป้อนตลาดไทย/เทศ ด้านซีเจเอ็กซเพรส เดินหน้ายึดค้าปลีกภาคกลาง ตั้งเป้า 600 สาขาใน 3 ปี พร้อมแต่งตัวเข้าตลาดตามรอย ก่อนเปิดตัว “ตะวันแดง เรด ซีรีส์” ชิงมาร์เก็ตแชร์เหล้าสีเสี่ยเจริญ

นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศมีการเติบโตที่ทรงตัวมาหลายปี เนื่องจากไม่สามารถขยายฐานผู้บริโภคให้กว้างขึ้นได้ การพึ่งพาธุรกิจเพียงขาเดียวจึงไม่สามารถทำให้บริษัทสามารถเติบโตในระยะยาวได้ จึงต้องหาช่องทางในการสร้างการเติบโตใหม่ ๆ

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปลงทุนด้านการกระจายสินค้าด้วยตัวเอง ภายใต้บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้า 31 แห่ง มีหน่วยรถแคชแวนกว่า 300 คัน และทีมขายกว่า 500 คน ครอบคลุมเน็ตเวิร์กร้านค้ากว่า 2.2 แสนแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่โมเดิร์นเทรด ไปจนถึงร้านค้าระดับย่อยในชุมชน หมู่บ้าน ทำให้สินค้าของคาราบาวสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ลึกและทั่วถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายสามารถเติบโตได้ดี ในขณะที่ภาพรวมตลาดหดตัวลง และยังเปิดโอกาสให้บริษัทมีช่องทางขายสำหรับสินค้าใหม่ที่ออกมา เช่น น้ำดื่มคาราบาว กาแฟกระป๋องคาราบาว ฯลฯ รวมถึงสินค้าใหม่ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มพัฒนาสินค้า “own brand” ภายใต้บริษัท สหมิตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่คาราบาวจัดตั้งขึ้น มีกว่า 10 รายการ ในกลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน อาทิ น้ำยาล้างจาน “ว้าว”, น้ำยาปรับผ้านุ่ม “ซอฟท์ ดี”, ผงซักฟอก, ขนม, ถั่วสิสง, เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาให้ถึง 200-300 รายการ

ตลอดจนการใช้จุดแข็งของเน็ตเวิร์กที่กระจายไปในชุมชนเล็ก ๆ ทั่วประเทศ เปิดบริการจุด drop-off หรือรับส่งสินค้าจากช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพราะปัจจุบันธุรกิจออนไลน์ในไทย 80% ยังขายแค่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล อีก 20% ขายในหัวเมืองยังไม่กระจายไปจังหวัดรอง หรือพื้นที่ห่างไกลได้มากนัก เนื่องจากการลงทุนด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง

ขณะนี้ได้จับมือกับเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ทดลองให้เป็นจุดรับส่งสินค้าในซีเจเอ็กซเพรส 10-20 สาขา และอยู่ระหว่างเจรจากับอีคอมเมิร์ซหลายราย โดยปีนี้จะเลือกร้านค้าเครือข่ายจำนวน 20% จาก 2.2 แสนร้านค้า ให้โนว์ฮาวในการบริหารจัดการสมัยใหม่ การจัดการระบบข้อมูล สต๊อก โดยโมเดลหรือชื่อร้านจะเป็น “ร้านถูกดี ศรีสะเกษ” ซึ่งคำหลังจะเปลี่ยนชื่อไปตามจังหวัดหรือทำเลนั้น ๆ เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับร้านค้าโชห่วย ที่เป็นช่องทางสำคัญของบริษัท คาดว่าจะครบทั้งเน็ตเวิร์กภายใน 2 ปี โดยปีที่ผ่านมาได้ทุ่มงบฯกว่า 400 ล้านบาท ปูพรมระบบ point of sale การติดตามสินค้าในสต๊อก และการทำงานของรถแคชแวน ที่จะแวะเวียนไปยังแต่ละร้านค้าได้อย่างแม่นยำ

“การมีธุรกิจเพียง 1-2 ตัวมันอยู่ระยะยาวไม่ได้ ต้องพยายามมองว่าอีก 10-20 ปี จะเติบโตได้อย่างไร ซึ่งการกระจายสินค้าเป็น asset ที่สำคัญ ด้วยระบบที่เราลงทุนไปน่าจะเป็นบริษัทเดียวในไทยที่มีระบบนี้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของโลจิสติกส์ที่นอกจากจะกระจายสินค้าให้กับเราแล้ว ยังใช้วางสินค้าใหม่ ๆ ที่จะออกตลาด ซึ่งปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าการออกสินค้าอย่างกาแฟคาราบาวก็ประสบความสำเร็จ หรือสินค้าโอว์นแบรนด์ของเรามีผลตอบรับที่ดี”

นายเสถียรยังระบุต่อไปอีกว่า ธุรกิจกาแฟกระป๋อง ปีที่ผ่านมามียอดขายกว่า 100 ล้านกระป๋อง มีอัตราการเติบโตที่ดี แต่ไม่สามารถผลิตได้ทันตามออร์เดอร์ เนื่องจากปัจจุบันโรงงานที่จ้างผลิตไม่สามารถขยายการผลิตเพิ่มได้ จึงมีแผนจัดตั้งโรงงานของตัวเอง ภายใต้งบฯลงทุน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รองรับตลาดในประเทศ และส่งออก เช่น อาเซียน สหราชอาณาจักร ฯลฯ ตามฐานที่คาราบาวได้เข้าไปปูพรมไว้ก่อนหน้า

ขณะที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซีเจเอ็กซเพรส ซึ่งเป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ในคาราบาว ล่าสุดมีการทำโฆษณาทีวีซี เพื่อสร้างการรับรู้ ก็เตรียมที่จะรุกขยายสาขามากขึ้น เน้นในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เนื่องจากคลังสินค้าใหญ่ยังอยู่แถบราชบุรี ทำให้มีระยะการจัดส่งจำกัด โดยปัจจุบันมีกว่า 250 สาขา มีรายได้ปีที่ผ่านมา 8.9 พันล้านบาท ภายในปี 2563 วางแผนที่จะขยายให้ครบ 600 สาขา และมียอดขาย 2 หมื่นล้านบาท และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 3 ปีจากนี้

แม้ว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อไทยจะแข่งขันกันรุนแรง แต่มองว่าศักยภาพของร้านซีเจ มีความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ คือมีความครบครันของสินค้า ทั้งอุปโภคบริโภค ไลฟ์สไตล์ กาแฟสด ภายใต้ร้าน “บาวคาเฟ่” หรือเครื่องสำอางในร้าน “นายน์บิวตี้” ซึ่งจะเข้าไปอยู่ในซีเจสาขาที่เปิดใหม่ทั้งหมด และพยายามปรับให้มีครบทุกสาขาในอนาคต

ส่วนด้านธุรกิจโรงเหล้า ภายใต้บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ที่ลงทุนส่วนตัวกับผู้ถือหุ้นใหญ่คาราบาว หลังจากเปิดตัวเหล้าขาวแบรนด์ตะวันแดงในปีที่ผ่านมา

ล่าสุดได้ออกสินค้าใหม่ในกลุ่มเหล้าสี “ตะวันแดง เรด ซีรีส์” เริ่มวางตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา