ค้าปลีกเฟ้นกลยุทธ์ลดต้นทุน โลตัสเอ็กซ์เพรสเลิกขาย 24 ชม.

สู้ไม่ไหว ค่ายค้าปลีก ฝุ่นตลบเฟ้นสารพัดวิธีลดต้นทุน-ค่าใช้จ่าย “เทสโก้ โลตัส” นำร่องเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิด 575 สาขาทั่วประเทศ น้องใหม่ “ซุปเปอร์เซฟ มินิมาร์ท” ปรับแผนใหม่เบรกเปิด 24 ชม. ยักษ์ค้าปลีกอัดโปรโมชั่นหวังดึงยอด “เซเว่นอีเลฟเว่น” โอดพนักงานขาด รับสมัครไม่อั้น ฟาก “เซ็นทรัล” เดินหน้าส่ง “ท็อปส์ พลาซ่า” ยึดเมืองเล็ก-เมืองรอง

ถึงวันนี้ แม้หลาย ๆ ฝ่ายจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ แต่ทางฟากฝั่งธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับปัญหาการระวังการจับจ่ายของผู้บริโภค และทำให้ทุกค่ายต้องทุ่มงบฯการตลาดจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างหนักหน่วง ล่าสุด ค้าปลีกบางรายต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการบริหารภายในเพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนการดำเนินงานบางส่วนลง

ปรับเวลาเปิด-ปิด ลดต้นทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเวลาเปิดให้บริการใหม่ของ 575 สาขา จากจำนวนสาขาทั้งหมดประมาณ 1,900 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น เทสโก้ โลตัส โมเดล เอ็กซ์ตร้า 15 สาขา, ไฮเปอร์มาร์เก็ต 105 สาขา, ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ 35 สาขา, ตลาดโลตัส 120 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 300 สาขา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนสาขาอื่น ๆ ยังเปิดให้บริการตามปกติ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังผู้บริหารเทสโก้ โลตัส แต่ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่สามารถจะให้รายละเอียดได้

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จริง ๆ แล้ว ภาพการปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิด การให้บริการของผู้ประกอบการค้าปลีกของผู้ประกอบการหลาย ๆ ค่ายนั้นมีให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นสาขาที่อยู่ตามชานเมือง ในบางพื้นที่ โดยเป็นการปรับลดเวลาการให้บริการลงอาจจะ 2-3 ชั่วโมง จากปกติ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการควบคุมและลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสาธารณูปโภคทั้งค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำ ลดการทำงานของพนักงาน ที่อาจจะรวมไปถึงการลดค่าทำงานล่วงเวลาได้ด้วย

“หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ช่วงหลัง ๆ มานี้หลัง 20.00 น.ไปแล้ว คนจะเดินจับจ่ายในห้างค้าปลีกน้อยมาก การเปิดยาวไปจนถึง 22.00-23.00 น. ไม่คุ้ม หลายแห่งก็ทยอยปรับลดเวลาการให้บริการ เพียงแต่อาจจะไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หรือในส่วนที่เป็นพื้นที่เช่า ร้านค้าทุกรายต่างก็รับทราบเรื่องนี้ดี และส่วนใหญ่ก็ทยอยปิดก่อนที่ห้างจะปิด”

จากการสำรวจพบว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ค่ายค้าปลีกน้องใหม่ “ซุปเปอร์เชฟ มินิมาร์ท” ภายใต้การบริหารของบริษัท ซุปเปอร์เซฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของตระกูลตั้งคารวคุณหรือกลุ่มบริษัททีโอเอ ก็ได้ทยอยปรับเวลาการให้บริการใหม่ทั้ง 41 สาขาเป็น 06.30-24.00 น. จากเดิมที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

อัดแคมเปญกระตุ้นถี่ยิบ

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกอีกรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากการลดต้นทุนด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วอีกด้านหนึ่ง ค้าปลีกทุกค่ายต่างก็ต้องทุ่มงบฯ การตลาดเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมอย่างหนักหน่วง เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและเพิ่มยอดขายให้ หากสังเกตจะเห็นว่า ปัจจุบัน ค่ายค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี มีการจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจการจับจ่าย อย่างต่อเนื่อง โดยมีลูกเล่นหลัก ๆ เป็นเรื่องของคูปองท้ายใบเสร็จที่มีมูลค่าตั้งแต่ 30 บาท 50 บาท 150 บาท200 บาท หรือบางช่วงอาจจะเพิ่มมูลค่าเป็น 300-350 บาท สำหรับนำไปซื้อสินค้าและกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การลดราคา ที่มีหลากหลายลูกแบบ อาทิ ซื้อ 1 แถม 1, ซื้อ 2 แถม 1, ซื้อ 3 แถม 1

เช่นเดียวกัน เซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลัก ๆ จะเป็นลดอย่างแรง ราคาพิเศษ 7 วัน ซึ่งจะมีการนำสินค้าต่าง ๆ มาลดราคาทุก ๆ 7 วัน, สิทธิแลกซื้อสินค้าในราคาพิเศษ, การจับคู่สินค้าและขายในราคาพิเศษ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เรื่องโปรโมชั่นของค้าปลีกนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกค่ายต้องมี จนเป็นเรื่องรูทีน เพียงแต่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือลูกเล่นที่แตกต่างกันไป และต้องยอมรับว่า สำหรับลูกค้าเองก็อาจจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอะไรที่แตกต่าง โปรโมชั่นแรงหรือไม่แรง เพราะแต่ละค่ายก็มีโปรโมชั่นกันทุก 3 วัน ทุก 7 วัน หรือ ทุก 10 วัน ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของทุกค่ายจึงอยู่ที่ว่าจะดึงลูกค้าให้มาจับจ่ายได้อย่างไร และเมื่อมาแล้วจะต้องพยายามให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ ณ จุดขายให้เร็วที่สุด และซื้อแล้วจะซื้ออะไรเพิ่มอีก

“โปรโมชั่นที่เราให้น้ำหนักมาก ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน และอีกช่วงหนึ่งที่ต้องยิงแรง ๆ ก็คือ ช่วงปลายเดือน ต้นเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกค้าจะจับจ่ายซื้อของเข้าบ้าน ตอนนี้แม้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ประชาชนหรือผู้บริโภคทั่ว ๆ ไปยังระมัดระวังในการจับจ่าย”

7/11 สวนกระแสรับ พนง.เพิ่ม

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ฉายภาพอีกด้านหนึ่งว่า ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกยังมีช่องว่างและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่สำหรับเซเว่นฯเองด้วยจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะเปิดเพิ่มประมาณ 700 สาขา ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรมาต่อเนื่อง และต้องการการประกาศรับพนักงานประจำสาขาเพิ่มเป็นระยะ ๆ

นอกจากการปิดประกาศรับสมัครพนักงานตามสาขาต่าง ๆ แล้ว บริษัทยังมีการประกาศรับสมัครงานทางเว็บไซต์ของบริษัทด้วย ตอนนี้ก็ยังรับพนักงานประจำร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศในหลาย ๆ แผนก ไม่จำกัดจำนวน เช่น พนักงานประจำสาขา พนักงานร้านเบเกอรี่และกาแฟคัดสรร พนักงานตรวจสอบร้าน ผู้ช่วยผู้จัดการฝึกหัด รวมทั้งเภสัชกรประจำร้านขายยา เอ็กซ์ตร้า

เช่นเดียวกับด้านความเคลื่อนไหวของ “ท็อปส์” ซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ล่าสุดได้ให้น้ำหนักขยายสาขาโมเดลขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ เจาะทำเลที่มีประชากรหนาแน่น กำลังซื้อสูง รวมทั้งการพยายาม ส่ง “ท็อปส์ พลาซ่า” ที่เป็นศูนย์การค้าขนาดย่อม ภายในศูนย์ นอกจากจะเปิดท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ แล้วยังมีพื้นที่ร้านค้าเช่า อาทิ โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ, บีทูเอส, เพาเวอร์บาย, เคเอฟซี, เอ็มเค, พิซซ่าฮัท สำหรับเจาะไปตามจังหวัดเล็ก อาทิ พิจิตร และอุดรธานี ล่าสุดเพิ่งเปิดที่พะเยา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีแผนจะเปิดเพิ่มที่ สิงห์บุรี, ขอนแก่น และพัทลุง เป็นต้น

ขณะที่ นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกใน 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยสดใสมากนัก เป็นเพราะปัจจัยการเมือง และปัจจัยภายในประเทศที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น เพราะปัจจัยต่าง ๆ เริ่มนิ่งแล้ว และไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจมหภาคและกำลังซื้อก็ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากเทสโก้ โลตัส ที่ประกาศปรับลดเวลาการเปิดให้บริการดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ลงสำรวจพื้นที่ชานเมือง อาทิ ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี, จังหวัดนนทบุรี (ซอยท่าอิฐ, คลองถนน) พบว่าค้าปลีกค่ายอื่น ๆ ยังเปิดให้บริการตามปกติ ไม่มีการปรับลดเวลาแต่อย่างใด อาทิ มินิบิ๊กซี ยังคงเปิดบริการ 24 ชั่วโมงตามปกติ รวมทั้งมีการประกาศรับสมัครพนักงานประจำ-พาร์ตไทม์ หลายอัตราในหลายสาขา เช่นเดียวกับ “แม็กซ์แวลู”ในเครืออิออน ยังคงเปิดบริการ 24 ชั่วโมงเช่นเดิม

ส่วน “ท็อปส์ เดลี่” ในเครือเซ็นทรัล ยังคงเปิดบริการตั้งแต่ 06.00 น.-24.00 น. และเปิด 24 ชั่วโมงในบางสาขา “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” เปิด 06.00-22.00 น. ตามปกติ ซึ่งกรณีของ ซีเจ เอ็กซ์เพรสนี้หลังจากกลุ่มผู้บริหารคาราบาวกรุ๊ปได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับโครงสร้างใหม่โดยยกเลิกการเปิด 24 ชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนทั้งพนักงาน-ค่าน้ำค่าไฟ