“ฮอลลีวูด” เผชิญวิกฤตอีกรอบ นักเขียนนับหมื่นหยุดงานประท้วง

นักเขียน
คอลัมน์ : Market Move

การฟื้นตัวจากโควิด-19 ของวงการภาพยนตร์และวงการบันเทิงสหรัฐต้องเผชิญความท้าทายใหม่อีกครั้ง

หลังนักเขียนบทภาพยนตร์และบทโทรทัศน์จำนวนมากกว่า 1.1 หมื่นราย พร้อมใจกันหยุดงานประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าแรง ซึ่งนับเป็นการประท้วงใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปี 2007-2008 (พ.ศ. 2550-2551) หรือในรอบกว่า 15 ปี และยังเป็นครั้งแรกในยุคแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอีกด้วย

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานถึงสถานการณ์นี้ว่า เหล่าสมาชิกสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาจำนวนมากกว่า 1.1 หมื่นราย รวมตัวกันออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าแรง โดยสมาคมอ้างว่า ค่าแรงของนักเขียนในปัจจุบันไม่ได้สัดส่วนกับรายได้ของภาพยนตร์-รายการทีวีในยุคสตรีมมิ่ง

นอกจากการเดินขบวนประท้วงแล้ว สมาคมยังประกาศนัดหยุดงานซึ่งส่งผลให้สมาชิกไม่สามารถทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ได้จนกว่าจะยกเลิกการประกาศ

การประกาศนัดหยุดงานครั้งนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่อาจกินเวลานานหลายเดือน เนื่องจากการนัดหยุดงานในการประท้วงเมื่อปี 2007-2008 นั้นยาวนานถึง 100 วัน และครั้งนี้การเจรจาระหว่างสมาคมกับพันธมิตรผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่เป็นตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและสตูดิโอผลิตรายการ ยังไม่มีท่าทีจะได้ข้อยุติ

สำหรับเหตุผลของการประท้วงครั้งนี้สมาคมระบุว่า มาจากความเปลี่ยนหลังเข้าสู่ยุคแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ซึ่งเป็นสนามแข่งขันใหม่ที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น จำนวนตอนที่น้อยกว่าซีรีส์ทางโทรทัศน์และการฉายแบบไม่มีช่วงเวลา-พรมแดน ทำให้นักเขียนได้ค่าตอบแทนลดลงตามไปด้วย ทั้งค่าตอบแทนปกติที่ได้ตามจำนวนตอน และค่าตอบแทนพิเศษเมื่อผลงานถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำ หรือเผยแพร่ในต่างประเทศ

จากข้อมูลของสมาคมช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าตอบแทนเฉลี่ยของนักเขียนและโปรดิวเซอร์ลดลง 4% หรือ 23% หากร่วมอัตรา เงินเฟ้อ สวนทางกับความนิยมของสตรีมมิ่ง

“บริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์พยายามใช้การเปลี่ยนผ่านสู่สตรีมมิ่งเป็นข้ออ้างในการลดค่าตอบแทนของนักเขียนและตัดนักเขียนออกจากทีมโปรดักชั่น ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานของนักเขียนบทซีรีส์ทุกระดับตั้งแต่มือใหม่จนถึงมือเก่าแย่ลง”

ทำให้สมาคมยื่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มค่าตอบแทนสำหรับนักเขียน โดยเฉพาะกรณีที่รายการเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งและเพิ่มข้อกำหนดให้สตูดิโอผู้สร้างรายการทีวีต้องจ้างนักเขียนในจำนวนและเป็นระยะเวลาตามที่กำหนด เช่นเดียวกันให้มีการทยอยจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละขั้นตอนของการสร้าง แทนการจ่ายครั้งเดียวเมื่อการผลิตเสร็จสิ้น ซึ่งหลายครั้งทำให้นักเขียนต้องลงแรงและเวลาส่งร่างและแก้ผลงานไปก่อนแบบฟรี ๆ

ด้านพันธมิตรผู้ผลิตภาพยนตร์ฯระบุว่า ไม่มีปัญหากับประเด็นค่าตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ยังต้องเจรจาเงื่อนไขที่จะบังคับให้ต้องจ้างนักเขียนในจำนวนและเป็นระยะเวลาที่กำหนด ไม่ว่าโปรเจ็กต์นั้นจะต้องการนักเขียนในจำนวนและระยะเวลาดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องการจำกัดการใช้งานเอไอหรือเทคโนโลยีที่คล้ายกันในกระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกับรายได้ของนักเขียน

สำหรับผลกระทบนั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้จะเกิดกับรายการทีวีช่วงดึก อย่าง “The Tonight Show Starring Jimmy Fallon” “The Late Show with Stephen Colbert” และ “Late Night with Seth Meyers” เป็นกลุ่มแรกเพราะรูปแบบรายการสไตล์เล่าข่าวเชิงเสียดสี ทำให้ไม่สามารถเขียนบทสำรองไว้ล่วงหน้าได้

ขณะที่รายการช่วงกลางวันอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะรูปแบบรายการที่เน้นการสัมภาษณ์และพูดคุยรับส่งมุขกันระหว่างพิธีกรมากกว่าจะใช้บทที่เขียนไว้ก่อน

แต่แม้จะได้รับผลกระทบ บรรดาพิธีกรของรายการเหล่านี้ต่างสนับสนุนการนัดหยุดงานครั้งนี้ โดยหลายรายถึงกับใช้เวลาของรายการกล่าวสนับสนุนการตัดสินใจของนักเขียนของรายการ ขณะที่ จิมมี ฟอลลอน หนึ่งในพิธีกรชื่อดัง กล่าวสนับสนุนการตัดสินใจของสมาคม ในงาน Met Gala หรืองานเลี้ยงใหญ่ประจำปีของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปะเครื่องแต่งกายของนิวยอร์ก

กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเป็นรายถัดไปคือ บรรดาละครที่หากการนัดหยุดงานลากยาวไปจนถึงช่วงฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) อาจจำเป็นต้องลดจำนวนตอนลงหรือเลื่อนการถ่ายทำออกไป เพราะตามปกติฤดูร้อนเป็นจังหวะที่ละครซึ่งมีกำหนดฉายช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) จะต้องเริ่มเปิดกล้องถ่ายทำกันแล้ว หากการประท้วงยืดเยื้อจะทำให้มีเวลาถ่ายทำลดลง

ด้านภาพยนตร์จอเงินนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบในทันทีทันใดหรืออาจไม่ได้รับผลกระทบเลย เนื่องจากขณะนี้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ถ่ายทำและตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ยังสามารถเข้าฉายในโรงหรือสตรีมมิ่งตามกำหนดเดิมได้ เช่นเดียวกับฝั่งผู้ชมที่นอกจากแฟนรายการรอบดึกแล้ว อาจไม่ได้รับผลกระทบหรือรับรู้ถึงการประท้วงนี้เลย เนื่องจากรายการที่สามารถถ่ายทำล่วงหน้าอย่าง ละคร ต่างปิดกล้องและเตรียมออกอากาศแล้วเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญในวงการภาพยนตร์คาดว่า ไลน์อัพภาพยนตร์ที่จ่อคิวเข้าฉายจะทำให้โรงภาพยนตร์ไม่ได้รับผลกระทบไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือไตรมาสแรกของปีหน้า

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การประท้วงลากยาวออกไปวงการภาพยนตร์จะได้รับผลกระทบไปด้วยในที่สุด