Singer เร่งลีนองค์กร ลดคน-ปั้นธุรกิจใหม่

Singer

Singer และ SG capital กางแผนลีนองค์กร ลดพนักงาน-คนติดตามหนี้เกินครึ่ง พร้อมผุดโมเดล ปั๊มโดนใจช่วยระบายสต๊อกตู้น้ำมัน ก่อนดึงเทคฯ ช่วยคุมคุณภาพหนี้ ขยายไลน์สินเชื่อทะเบียนมอเตอร์ไซค์-บ้านที่ดิน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของบริษัทในขณะนี้คือ การลีนองค์กรทั้งลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจลงอีก 20% และระบายสต๊อกสินค้าที่ยึดคืนจากลูกหนี้ หลังช่วงที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้คุณภาพทำให้ปริมาณสินค้ายึดคืนเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับต้นทุนในการทำธุรกิจที่ยังสูงเกินไป

มุ่งลีนองค์กร ลดพนักงานเกินครึ่ง

สำหรับการลดต้นทุนลงให้ได้ 20% ตามเป้านั้น ส่วนหนึ่งจะปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงานลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะลดพนักงานจาก 556 คนเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ให้เหลือ 200 คน ภายในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงจาก 18.3 ล้านบาท เหลือประมาณ 7 ล้านบาท

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2566) ลดพนักงานไปแล้วประมาณ 170 คน ทำให้เหลือพนักงานรวม 382 คน

ไปในทิศทางเดียวกับ เอสจี แคปปิตอล ซึ่งมีแผนลดพนักงานติดตามหนี้ลงเกินครึ่งเช่นกัน โดยนายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า จะเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดพนักงานติดตามหนี้จากประมาณ 300 คน เหลือประมาณ 100 คน ในเดือนมิถุนายน พร้อมรวมศูนย์การอนุมัติสินเชื่อโดยเปิดศูนย์อนุมัติสินเชื่อกลางที่่รังสิตในเดือนมิถุนายน

เปิดตัวธุรกิจ-ผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ สร้างรายได้-ระบายสต๊อก

นอกจากลดต้นทุนแล้ว ทั้ง 2 บริษัทยังเดินหน้าเปิดตัวธุรกิจและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ เพื่อสร้างรายได้ โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซิงเกอร์ กล่าวว่า บริษัทมีโมเดลธุรกิจใหม่ในชื่อ “ปั๊มตามใจ” ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันไซส์เล็กที่ใช้ตู้น้ำมันหยอดเหรียญมาให้บริการร่วมกับตู้หยอดเหรียญอื่น ๆ เช่น ตู้เติมเงิน ตู้เวนดิ้ง ฯลฯ เพื่อดึงดูดลูกค้าสร้างรายได้เพิ่ม พร้อมกับระบายสต๊อกตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ซึ่งช่วงที่ผ่านมายึดคืนจากลูกหนี้มาจำนวนมาก

โดยวางเป้าตั้งตู้น้ำมันฯ ให้ครบ 5,000 ตู้ในปีนี้ ซึ่งจะใช้ตู้น้ำมันที่ยึดคืนมาเป็นหลัก ช่วยให้ไม่ต้องสั่งผลิตตู้ใหม่ ส่วนสินค้ายึดคืนตัวอื่น ๆ อย่าง ตู้แช่ และแอร์จะกระจายไปวางจำหน่ายในราคาพิเศษตามช่องทางต่าง ๆ ของทั้งซิงเกอร์และเจมาร์ท ตามเป้าระบายสต๊อกสินค้ายึดคืนให้ได้ 75% ภายในสิ้นปี 2566 นี้

นอกจากนี้จะโฟกัสผลักดันรายได้จากสินค้าใหม่ ๆ ที่เปิดตัวในช่วงที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับดีอย่าง แผงโซล่าเซลล์ เฟอร์นิเจอร์ และการผ่อนทองคำ ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้จะสร้างรายได้รวมกันกว่า 400 ล้านบาท

ด้าน เอสจี แคปปิตอล จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ซึ่งนายอโณทัย เปิดเผยว่า เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 3 ตัว คือ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อรถการเกษตร สินเชื่อบ้านและที่ดิน

ด้านสินเชื่อทะเบียนรถเดิมจะขยายฐานรุกกลุ่มธุรกิจขนส่งที่กำลังฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว และเจาะกลุ่มใหม่อย่าง โรงงานน้ำตาลและโรงงานปุ๋ย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค-ธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และย้ำแผนก้าวขึ้นเป็นวันสต๊อปเซอร์วิสด้านการเงิน-สินเชื่อ

ดึงเทคโนโลยีช่วยกรองปล่อยสินเชื่อ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล กล่าวต่อไปว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะเพิ่มความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นอีก ด้วยการต่อยอดเทคโนโลยีจากธุรกิจการเงินของเจมาร์ท ไม่ว่าจะเป็น นำระบบยืนยันตัวตน (EKYC) มาใช้ยืนยันตัวตนลูกหนี้ รวมถึงวางระบบติดตามพนักงานขายและพนักงานเก็บเงิน

ทั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ปี 2566 นี้สามารถเก็บหนี้ได้มากขึ้น 25% หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 6.6 พันล้านบาท และสามารถคุมสัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อใหม่ให้น้อยกว่า 5% ได้