ขนมญี่ปุ่นแห่บุก “อาเซียน” ตั้งฐานผลิต…รับตลาดโต

คอลัมน์ Market Move

การรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนักหน่วงของบรรดาเชนรายสะดวกซื้อจากแดนปลาดิบอย่างเซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน ได้เปิดทางให้แบรนด์สินค้าญี่ปุ่นระดับกลาง-เล็กหลายรายใช้ร้านค้าเหล่านี้เป็นช่องทางเปิดฉากรุกตลาดอาเซียน รวมถึงจับมือพันธมิตร-ตั้งฐานการผลิตเป็นสปริงบอร์ดรุกเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต

โดย “ยูราคุ คอนเฟกชันเนอรี่” (Yuraku Confectionery) ผู้ผลิตขนมสัญชาติญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อาศัยโอกาศนี้รุกตลาดอย่างหนักหน่วง นอกจากปูพรมสินค้าเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังพัฒนาสินค้ารุ่นพิเศษสำหรับขายในอาเซียน และตั้งฐานการผลิตรองรับดีมานด์ ในขณะที่รายอื่น ๆ อาทิ “อาเมะฮะมาเซกะ” (Amehamaseika) และ “ไทโรล ช็อกโก้” (Tirol Choco) เล็งตลาดใหญ่ทั้งไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

สำนักข่าวนิกเคอิ รายงานว่า “ยูราคุฯ” ประกาศจับมือกับ “เดลฟี” (Delfi) ผู้ผลิตขนมจากสิงคโปร์ ร่วมลงทุนมูลค่า 500 ล้านเยนหรือประมาณ 4.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสัดส่วน 40% ต่อ 60% ตามลำดับ เพื่อเพิ่มไลน์ผลิตขนม “แบล็ก ทันเดอร์” (Black Thunder) สินค้าแฟลกชิปของยูราคุฯในโรงงานเดลฟีที่อินโดนีเซีย ซึ่งสินค้าที่ออกจากโรงงานนี้จะเป็นสูตรพิเศษสำหรับขายในอาเซียนโดยเฉพาะ มีจุดเด่นด้านทนต่ออุณหภูมิและความชื้นได้มากกว่าแบบที่ขายในญี่ปุ่น โดยมีกำหนดเริ่มสายการผลิตในปี 2522

นอกจากเพิ่มกำลังผลิตแล้วยังปรับกลยุทธ์ โดยดีไซน์แพ็กเกจสินค้าให้ใกล้เคียงกับแบบที่ใช้ในญี่ปุ่น เพื่อเน้นย้ำจุดขายเรื่องแบรนด์ญี่ปุ่น โดยไม่ต้องพึ่งพาตรา “เมดอินเจแปน” ช่วยลดข้อจำกัดในการขยายฐานการผลิต

โดยทางบริษัทย้ำว่า การลงทุนและกลยุทธ์ใหม่นี้จะช่วยให้ยอดขายจากต่างประเทศซึ่งเดิมมีสัดส่วนเพียง 1% ของรายได้รวมหรือประมาณ 9.4 แสนเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 10 เท่าภายในเวลา 5 ปี จากเดิมที่เคยส่งขนม “แบล็ก ทันเดอร์” เข้าไปวางขายในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐ ไต้หวัน ไทย ตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ส่วน “ไทโรล ช็อกโก้” จะนำสินค้าไฮไลต์ซึ่งเป็นช็อกโกแลตขนาดพอดีคำรุกประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ในฤดูใบไม้ผลินี้ ด้วยกลยุทธ์ถนัด เช่น ตั้งราคาให้ตัดสินใจง่ายและเพิ่มโอกาสขายโดยวางสินค้าใกล้เครื่องคิดเงิน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศจาก 5% เป็น 20% ใน 10 ปี

เช่นเดียวกับ “อาเมะฮะมาเซกะ” ที่เตรียมรุกประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ด้วยลูกอมหลังจากเริ่มขายในเกาหลีใต้และสหรัฐไปก่อนหน้านี้

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดขนมขบเคี้ยวและลูกอมในอาเซียนดุเดือดขึ้นอีก ซึ่งต้องรอดูกันว่าแบรนด์ท้องถิ่นในแต่ละประเทศรวมถึงไทยจะปรับตัวรับมืออย่างไร