เท 5 พันล้านบุกธุรกิจอาหาร บุญรอดฯตั้งบริษัทปั้นเครือข่ายไทย-เทศ

“บุญรอดฯ” ทุ่ม 5 พันล้าน สยายปีกธุรกิจอาหาร-ซัพพลายเชน ตั้งบริษัทใหม่ “ฟู้ด แฟคเตอร์” พร้อมเร่งจับมือพันธมิตร ขยายเน็ตเวิร์กร้านค้าไทย-เทศ ตั้งเป้าโกยรายได้ 1.5 หมื่นล้านใน 3 ปี

นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ระบุว่า เทรนด์ของการเติบโตในอนาคต มองว่ากลุ่มธุรกิจอาหารมีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงที่จะขยายตัวได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีนั้นน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ล่าสุดจัดโครงสร้างของธุรกิจอาหารใหม่ โดยการรวม 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอส คอมพานี (1933) จำกัด ผู้บริหารร้าน เอส.33, สตาร์เชฟ, ฟาร์มดีไซน์ ฯลฯ บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ผลิตซอสปรุงรสและอาหารพร้อมทาน และบริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าวพันดี เข้ามาบริหารภายใต้บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรุกตลาดอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยมองไปถึงตลาดโลก ที่มีแผนจะขยายออกไปในอนาคต

โดยแผนในระยะ 3 ปี ยังมองการนำเครือข่ายของบุญรอดฯมาสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนี้ โดยการลงทุน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2,500 ล้านบาท ในฟู้ด แฟคเตอร์ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจอาหารในไทย และในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป รวมถึงการจัดตั้งฟู้ดแล็บ สำหรับคุมมาตรฐานและคิดสูตรใหม่ ๆ

และอีก 2,500 ล้านบาท ในบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด รวมถึงบริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด รองรับการทำธุรกิจปัจจุบันที่ต้องปรับตัวให้เร็ว โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราประกอบร่าง หาพันธมิตร คู่ค้าต่าง ๆ และตอนนี้ก็พร้อมที่จะเทกออฟแล้ว หลังจากนี้สิ่งที่ฟู้ด แฟคเตอร์ จะทำคือ การหาช่องทางสร้างเน็ตเวิร์กให้ครอบคลุม แล้วจึงคิดว่าจะผลิตสินค้าอะไรที่เหมาะกับการขายในช่องทางที่มี ซึ่งอาจจะเป็นอาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร ฯลฯ ต่างจากบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องมีสินค้าก่อนแล้วจึงจะหาช่องทาง”

ภายในปีแรกจะเน้นการสร้างเครือข่ายในไทย และจะมีรายได้จากในประเทศ 80% พร้อมกับการรุกเข้าไปในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหลัก เพราะมีดีมานด์อาหารไทยสูง มีกำไรต่อหน่วยค่อนข้างมาก และเป็นตลาดใหญ่ที่เชื่อมถึงกันหลายประเทศ โดยภายใน 3 ปี มองว่าสัดส่วนของรายได้จะมาจากต่างประเทศมากกว่า เป็น 80%

นายปิติระบุเพิ่มเติมว่า แม้ธุรกิจอาหารจะแข่งขันกันอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ แต่มองว่ายังมีช่องว่างที่จะเข้าไปแข่งขันได้ โดยเน้นการเติบโตไปกับคู่ค้า และให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส ตั้งแต่หาวัตถุดิบในการผลิต ไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมให้เข้าถึงผู้บริโภคและการแข่งขันในยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น