Kipling ขนคอลเล็กชั่นการ์ตูนเจาะนิวเจน

Kipling

“มณียาคอนเซพทส์” ประกาศเร่งขยายตลาด Kipling จับมือพันธมิตร ขนคอลเล็กชั่นใหม่ “การ์ตูน” มุ่งขยายฐานเจาะคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี ปีละ 2-3 แบรนด์ แฟน ๆ “มินเนียน” ห้ามพลาด ปีหน้ามาแน่ กางแผนเตรียมนำเข้าสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องสำอาง เสริมทัพ สิ้นปีตั้งเป้าโต 30%

นายนอร์ท เลิศธนอารีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณียาคอนเซพทส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระเป๋า Kipling จากเบลเยียมแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ภาพรวมตลาดกระเป๋าผ้าแบรนด์เนม ในกลุ่มฟังก์ชั่นที่ใช้งานได้หลากหลายมีมูลค่าตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีผู้เล่นหลักในส่วนนี้ อาทิ Anello, Cath Kidston, Herschel และ Indy bag และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายพบว่ายอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว การเปิดประเทศ การมีช่องทางจำหน่ายอีคอมเมิร์ซที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมไปถึงกระแสแฟชั่น Y2K ยุค 90 ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่อายุประมาณ 20-30 ปี หันมาสนใจเทรนด์กระเป๋าย้อนยุคมากขึ้น

สำหรับแนวทางการทำตลาดจากนี้ไป หลัก ๆ บริษัทมุ่งเดินหน้าขยายตลาด Kipling มากขึ้น โดยเฉพาะการพยายามขยายฐานลูกค้าให้เด็กลง หรือมีอายุประมาณ 20-30 ปี จากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของ Kipling ยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีมากถึง 70% ด้วยการจับมือกับพันธมิตรนำลิขสิทธิ์การ์ตูนสำหรับเด็กมาออกสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ปีละ 2-3 คอลเล็กชั่น ล่าสุดได้ร่วมมือกับ Barbie x Kipling ซึ่งกระแสตอบรับดีมาก ส่งผลทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่อายุ 20-30 ปี ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์หน้า (28 ส.ค.-1 ก.ย.) จะมีการเปิดตัวการร่วมมือกับ Miffy x Kipling เพื่อเติมสีสันให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ออริจินอล ที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเทรนด์แฟชั่นปัจจุบันอีกด้วย

กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณียาคอนเซพทส์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน สำหรับปีหน้าก็จะมีการออกคอลเล็กชั่นการ์ตูน มินเนียน และผลิตสินค้าที่สามารถใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พร้อมนำคอลเล็กชั่นกระเป๋าสำหรับผู้ชายมาจำหน่ายมากขึ้น ตามแผนของบริษัทแม่ อาทิ กระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊ก เน้นสีโทนเข้ม ดำ น้ำเงิน และนำกระเป๋าเดินทางแบบผ้า รวมถึงการนำลิงขนที่เคยได้รับความนิยมกลับมาจำหน่ายในไทยอีกครั้ง

Advertisment

ปัจจุบัน Kipling มีจุดขายอยู่ประมาณ 70 จุดทั่วประเทศ ทั้งร้านเฉพาะของบริษัทเองและจุดขายในห้างสรรพสินค้า แบ่งออกเป็นช็อปในห้าง 17 จุด ในกลุ่มของเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ และเป็นช็อปที่อยู่ในดีพาร์ตเมนต์สโตร์อีกประมาณ 53 จุด

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะนำเข้าสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องสำอาง เข้ามาจำหน่ายในไทยเพิ่มอีก 1-2 แบรนด์ ซึ่งเป็นสินค้าจากกลุ่มบริษัท วีเอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากอเมริกา ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่น อาทิ แบรนด์ทิมเบอร์แลนด์ เดอะนอร์ทเฟซ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าประมาณ 8-11 แบรนด์ โดยจะเลือกแบรนด์ที่ยังไม่มีจำหน่ายในไทยเข้ามาทำตลาดเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทมากขึ้น

Advertisment

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้บริษัทได้ตั้งที่จะผลักดันยอดขายให้เติบโตประมาณ 30% จาก 350 ล้านบาท ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท มณียาคอนเซพทส์ ได้นำกระเป๋า Kipling เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 25 ปี เริ่มจาก “ศิริกาญจน์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา” และต่อมาได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทคนโต “ปอ-ศีกัญญา ศักดิเดช ภาณุพันธ์” มารับช่วงดูแล Kipling ต่อจนถึงปัจจุบัน