ค่าครองชีพแดนกิมจิพุ่ง ค้าปลีกส่ง “ไพรเวตแบรนด์” ชิงดีมานด์

คอลัมน์ Market Move

ค่าครองชีพที่พุ่งสูงต่อเนื่องนับเป็นหนึ่งในความท้าทายของวงการธุรกิจซึ่งจะต้องปรับตัวบาลานซ์ระหว่างต้นทุนสินค้า-แรงงานกับระดับราคาขายที่สามารถรักษาลูกค้าไม่ให้ไหลไปหาคู่แข่งและเพียงพอให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจค้าปลีกกำลังเร่งปรับตัวขนานใหญ่ หลังจากรัฐบาลประกาศโรดแมปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเนื่องจนถึงปี 2563

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เชนไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ ต่างงัดกลยุทธ์เด็ดของตนออกมาดึงดูดลูกค้าในช่วงข้าวยากหมากแพงนี้กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไพรเวตแบรนด์ กาแฟราคาประหยัด หรือการหันไปโฟกัสเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่มีกำลังซื้อสูงแทน

ทั้งนี้ผลจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 7,530 วอนต่อชั่วโมงเป็น 10,000 วอน หรือประมาณ 290 บาท ภายในปี 2563 ทำให้ราคาสินค้าและบริการในเกาหลีใต้ทยอยปรับขึ้นล่วงหน้าแบบก้าวกระโดด ทั้งราคาค้าปลีกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16% ส่วนขนมและอาหารในร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารแพงขึ้นตั้งแต่ 100-1,000 วอน จนช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมาการกินอาหารนอกบ้านหนึ่งมื้อแพงขึ้นถึง 2.8-2.9% สูงกว่าเดือน ธ.ค.ที่แพงขึ้น 2.7% ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและของใช้สิ้นเปลือง ลงเพื่อเก็บเงินเอาไว้สำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็น

สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค โดยพนักงานออฟฟิศชาวเกาหลี อายุ 37 ปี รายหนึ่งซึ่งให้ข้อมูลกับสำนักข่าวยอนฮับว่า ปัจจุบันนี้แค่เบียร์ 4 แก้วกับกับแกล้มจานเดียวต้องใช้เงินถึง 40,000 วอน หรือประมาณ 1,100 บาท แล้ว ทำให้พนักงานหลายคนลดหรือเลิกทานอาหารนอกบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตหันมาผลักดันสินค้าไพรเวตแบรนด์โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มออกสู่ตลาด ด้วยการจัดชั้นวางขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ พร้อมเสริมด้วยโปรโมชั่นและดีลต่าง ๆ เพื่อรักษาระดับราคาให้ถูกกว่าแบรนด์เนมหวังตอบโจทย์และชิงเม็ดเงินของผู้บริโภค นำโดยผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “อีมาร์ต” (E-Mart) เชนค้าปลีกของแชโบลชินเซเกซึ่ง “โน แบรนด์” (no brand) สินค้าไพรเวตแบรนด์ของบริษัทได้รับความนิยมสูง

ส่วน “ลอตเต้ มาร์ท” ในเครือลอตเต้เปิดเผยว่า ยอดขายสินค้าไพรเวตแบรนด์ 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกลุ่มอาหารเป็นดาวเด่นเติบโตขึ้นถึง 21.7% เช่นเดียวกับกลุ่มร้านสะดวกซื้อทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น, จีเอส 25 (GS 25), ซียู (CU) และอื่น ๆ ที่ยอดขายกาแฟราคาประหยัดประมาณ 1,000 วอนหรือเพียง 1 ใน 3 ของกาแฟสตาร์บัคส์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มขายในปี 2558

โดยเชนร้านสะดวกซื้อซียูระบุว่า “คาเฟ่เกต” กาแฟอเมริกาโนโอว์นแบรนด์ราคาแก้วละ 1,200 วอน กลายเป็นสินค้าขายดีที่สุดอันดับ 1 ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ขยับจากอันดับ 10 จากปีที่แล้ว ส่วนร้านจีเอส 25 สามารถขายกาแฟกลุ่มนี้ได้ถึง 65 ล้านแก้วในปี 2560 เนื่องจากสามารถตอบโจทย์เหล่าพนักงานออฟฟิศ ซึ่งต้องการดื่มกาแฟ 2-3 แก้วต่อวันในราคาที่เข้าถึงได้

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการอีกกลุ่มเลี่ยงการแข่งขันราคาหันไปจับลูกค้าระดับบนซึ่งมีกำลังซื้อสูง โดยเชนซูเปอร์มาร์เก็ต “ลอตเต้ ซูเปอร์” เปิดตัวร้านโมเดลใหม่ “พรีเมี่ยมฟู้ดมาร์เก็ต” (premium food market) เน้นขายวัตถุดิบอาหารระดับพรีเมี่ยมกว่า 8,000 รายการ หวังจูงใจผู้บริโภคกระเป๋าหนักให้มาเป็นลูกค้า

ความเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงการแข่งขันดุเดือดในสมรภูมิค้าปลีกเกาหลีใต้