เพิ่มทุน “เกษมราษฎร์เวียงจันทน์” แก้ปมเงินกีบอ่อนค่า-ลั่นปี’68 มีกำไร

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์
ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

“บางกอก เชน” ปรับโครงสร้างทางการเงิน เพิ่มทุนบริษัทลูกในลาว แก้ปัญหาเงินกีบอ่อนค่า มั่นใจอีก 2 ปี “เกษมราษฎร์ เวียงจันทน์” มีกำไร ย้ำตลาดมีศักยภาพล้น เร่งโปรโมตศูนย์แม่และเด็ก-จัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพ-ฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ เพิ่มเครือข่ายคู่สัญญาระหว่างบริษัทเอกชน โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และบริษัทประกัน พร้อมมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการตั้งเป้าคว้า JCI ขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติ

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ กลุ่ม รพ.เวิลด์ เมดิคอล และกลุ่ม รพ.การุญเวช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ถึงแนวทางการดำเนินงานของ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ว่า ขณะนี้แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในเกณฑ์สูง

แต่เนื่องจาก รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ เป็น รพ.ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าในกลุ่มบนหรือกลุ่มพรีเมี่ยม และผู้ป่วยชาวต่างชาติที่อยู่ในลาว ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยที่อาจจะเป็นปัญหาอยู่บ้างก็คือ เรื่องของอัตราเงินกีบที่อ่อนค่า ซึ่งปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 1 บาท เท่ากับประมาณ 550 กีบ (20 กันยายน) จากช่วงที่โรงพยาบาลเปิดให้บริการเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2564 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาทต่อ 280-290 กีบ

โดยผลการดำเนินงานภาพรวมของบริษัทช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (2,848 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มจากช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ (2,673 ล้านบาท) แต่ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่เกิดจากรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในไตรมาส 2/2566 มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 63 ล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ตัวเลขอยู่ที่ 15 ล้านบาท

เพิ่มทุนแก้พิษ “เงินกีบ” อ่อนค่า

ศ.ดร.นพ.เฉลิมกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการเพิ่มทุนในบริษัท บางกอก เชน อินเตอร์เนชั่นแนล (ลาว) จำกัด ที่เป็นบริษัทย่อย จำนวน 279,400,000,000 กีบ หรือเทียบเท่า 481,965,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 133,200,000,000 กีบ เป็นทุนจดทะเบียนรวม 412,600,000,000 กีบ เป็นการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 139,700,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2,000 กีบ หรือเทียบเท่า 3.45 บาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารงาน และชำระหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวของเงินสกุลบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินบาทจากสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินสกุลกีบลดลง รวมถึงนำไปใช้ในการขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นสถานพยาบาลที่สามารถรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นในประเทศลาวได้

“การปรับโครงสร้างทางการเงินดังกล่าวจะทำให้เราไม่มีหนี้เป็นเงินบาท และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2 เท่าแล้ว จากนี้ไปก็จะทำให้กำไรก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานของสาขาเวียงจันทน์ เป็นสาขาที่มีกำไรจากการดำเนินงานในส่วนที่เป็นเงินสด (EBITDA) เป็นบวกมาตลอด ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดให้บริการ เพียงแต่ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่จะต้องเอาเงินกีบมาแลกเป็นเงินบาท ซึ่งตัวเลขจะเพิ่มขึ้นมาอีกเกือบเท่าตัว แต่หลังจากที่มีการเพิ่มทุนไปแล้ว เราเชื่อว่าจะเริ่มมีกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชนฯ ยังกล่าวด้วยว่า เวียงจันทน์เป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับบนทั้งคนไข้ในท้องถิ่นและคนไข้ชาวต่างชาติ และที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมาก โดยได้รับความสนใจจากทั้งสถานทูตต่าง ๆ ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มผู้ประกอบการสภาหอการค้า นักธุรกิจทั้งชาวลาวและชาวต่างประเทศในเวียงจันทน์ และตอนนี้คนไข้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์เงินกีบที่อ่อนค่าลงก็ส่งผลให้มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จากปกติอาจจะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในฝั่งไทย ทั้งอุดรธานี ขอนแก่น หรือกรุงเทพฯ

ตอนนี้ในแง่คนไข้นอก (OPD) แต่ละวันจะมีประมาณ 100-150 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไข้ที่เป็นชาวต่างชาติที่พักอยู่ในเวียงจันทน์ ประมาณ 30-35% และคนไข้ใน (IPD) ตัวเลขจะอยู่ที่ 20-30 คน/วัน โดยกลุ่มคนไข้ที่เป็นชาวต่างชาติหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานทูตต่าง ๆ รวมทั้งคนจีนที่ทำงานหรือทำธุรกิจอยู่ในเวียงจันทน์ และยังมีศักยภาพที่จะรองรับคนไข้ได้อีกมาก จากจำนวนเตียงในเฟสแรก 110 เตียง และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี อาจจะเริ่มคับแคบและไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายการบริการในเฟสถัด ๆ ไป

เร่งพัฒนามาตรฐาน JCI

ศ.ดร.นพ.เฉลิมกล่าวด้วยว่า จากนี้ไปกลยุทธ์ของ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ จะยังมุ่งเน้นการให้บริการศูนย์การแพทย์ทั่วไปและศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง อาทิ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์ทันตกรรมครบวงจร ศูนย์ไตเทียม ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์สูตินรีเวช ศูนย์กุมารเวช ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง และศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน

โดยจะเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ เช่น กิจกรรมโปรโมตศูนย์แม่และเด็กผ่านงาน Meet and Greet กับบุคคลที่มีชื่อเสียง การจัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพและแพ็กเกจการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ รวมถึงการเพิ่มเครือข่ายคู่สัญญาระหว่างบริษัทเอกชน โรงเรียนเอกชน/นานาชาติ และบริษัทประกัน ซึ่งจะช่วยสร้างเครือข่ายการรับส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล Joint Commission International (JCI) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานระดับโลกที่สะท้อนถึงคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ รวมไปถึงการบริหารบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวต่างชาติ และช่วยให้ รพ.สามารถขยายฐานผู้ป่วยต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการการรักษาโรคเฉพาะทางครบวงจรแห่งแรกในเวียงจันทน์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ เป็นโรงพยาบาลขนาด 254 เตียง และ 43 ห้องตรวจ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฟสแรกจะให้บริการ 110 เตียง และจะขยายเต็มศักยภาพในเฟส 2 ต่อไป