“ซอสญี่ปุ่น” ปรับสูตร ลดเค็ม…รับเทรนด์สุขภาพโตแรง

คอลัมน์ Market Move

ในขณะที่ไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจากการกินหวานมากเกินไปจนทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ-สมอง อ้วน และเบาหวานนั้น ประเทศที่มีภาพลักษณ์ด้านความเป็นมิตรกับสุขภาพอย่างญี่ปุ่นเองก็กำลังเผชิญกับปัญหา “กินเค็ม” มากเกินไปเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสูงวัยที่กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่และมีโรคความดันสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นหลายเมนูทั้งในบ้าน ร้านสะดวกซื้อ จนถึงภัตตาคารหรูต่างมีรสเค็มเป็นหลัก

ส่งผลให้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราการบริโภค “โชยุ” ซอสถั่วเหลืองรสเค็มซึ่งถือเป็นเครื่องปรุงประจำชาติและเป็นพื้นฐานของอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกเมนูลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันดีมานด์เครื่องปรุงเค็มน้อยหรือสูตรโซเดียมต่ำ รวมถึงกลุ่มที่มีฟังก์ชั่นเสริมอย่างใส่สารอาหารเพิ่มเติมกลับสูงขึ้นแทน เพราะนอกจากกลุ่มสูงวัยแล้ว คนรุ่นใหม่เองเริ่มสนใจประเด็นนี้มากขึ้นเช่นกัน จนผู้ผลิตเครื่องปรุงรสในตลาดญี่ปุ่นต้องเร่งปรับตัวตาม

สำนักข่าวนิคเคอิรายงานว่า บรรดาผู้ผลิตเครื่องปรุงรสในญี่ปุ่นรวมถึงรายใหญ่อายุกว่า 100 ปี และครองตำแหน่งเจ้าตลาดโชยุอย่าง “คิคโคแมน”(Kikkoman) เร่งปรับกลยุทธ์และปรับสูตรซอสชนิดนี้ใหม่ ด้วยการลดปริมาณโซเดียมลงและเสริมฟังก์ชั่นด้านสุขภาพเข้าไป หวังรับดีมานด์เครื่องปรุงโซเดียมต่ำที่กำลังมาแรง

โดย “คิคโคแมน” ได้ลอนช์ซอสโชยุสูตรโซเดียมต่ำกว่าปกติ 50% อย่างเป็นทางการ พร้อมวางขายในช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงระดมการตลาดเน้นย้ำเรื่องสามารถใช้ทดแทนสูตรปกติได้หวังสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับผู้บริโภคทั่วไปและธุรกิจอาหาร หลังจากทดลองขายเฉพาะการสั่งซื้อออนไลน์และทางจดหมายมาตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว และได้รับการตอบรับล้นหลามจากทั้งกลุ่มสูงวัยและคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ

“เดิมบริษัทวางโพซิชั่นของซอสสูตรนี้ให้เป็นสินค้าสไตล์ฟังก์ชั่นนอลเจาะกลุ่มผู้สูงอายุวัย 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยชูเรื่องโซเดียมต่ำและเสริมสารซอยเป็บไทน์จากถั่วเหลืองเข้าไป แต่กระแสตอบรับดีเกินคาด จึงตัดสินใจเปิดขายในช่องทางปกติด้วยเพื่อตอบรับดีมานด์จากผู้บริโภคทุกกลุ่ม”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามรับมือปัญหานี้ ด้วยการลอนช์แคมเปญรณรงค์ลดการกินเค็มอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เห็นได้จากผลสำรวจเมื่อปี 2557 พบว่าชาวญี่ปุ่นบริโภคโซเดียมเฉลี่ยถึง 10 กรัมต่อวัน ลดลงจากปี 2547 หรือ 10 ปีก่อนหน้าเพียง 1 กรัมต่อวันเท่านั้น โดยตัวเลขนี้ยังต่ำกว่าเป้าซึ่งวางไว้ที่8 กรัมและ 7 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับอยู่อีกมาก

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นผลจากการพุ่งเป้าของแคมเปญไปที่อาหาร อาทิ ซุปและอาหารหมักดอง แทนที่จะเป็นเครื่องปรุงรสและวัตถุดิบอย่าง โชยุ เต้าเจี้ยวมิโซะรวมถึงเส้นชนิดต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนโซเดียมสูงและเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารญี่ปุ่นเกือบทุกเมนูไม่เฉพาะซุปหรือผักดอง

ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดนี้สะท้อนถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นและฉายให้เห็นโอกาสสำหรับสินค้าอาหารที่มีจุดขายด้านสุขภาพ ซึ่งต้องรอดูกันว่าหลังจากนี้เซ็กเมนต์เครื่องปรุงที่เป็นมิตรกับสุขภาพจะแข่งขันกันดุเดือดขนาดไหน และผู้เล่นรายอื่นจะรับมือด้วยนวัตกรรมรูปแบบไหนกันบ้าง