ปั้นนวัตกรรมพลิกโลก โจทย์ใหญ่…ซีอีโอใหม่โซนี่

คอลัมน์ Market Move

วันที่ 1 เม.ย.นั้นเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณของเอกชนญี่ปุ่น และมักเป็นวันที่หลายบริษัทเริ่มกลยุทธ์หรือทิศทางใหม่ ๆ อีกด้วย แต่สำหรับปี 2561 นี้ ความสนใจของบรรดาภาคธุรกิจและนักลงทุนรวมถึงสื่อมวลชนทั่วโลก ต่างจับจ้องไปที่ “โซนี่” ซึ่งตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป “คาซูโอะ ฮิไร” ที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและซีอีโอมานาน 6 ปี พร้อมแสดงผลงานกู้วิกฤตของบริษัทจากสภาพขาดทุน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กลับมามีรายได้และกำไร ซึ่งคาดว่าจะสูงสุดในรอบ 20 ปีในปี 2017 จะก้าวลงจากตำแหน่งและส่งไม้ต่อให้กับ “เคนอิจิโร่ โยชิดะ” อดีตซีเอฟโอหรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน มารับช่วงบริหารยักษ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้แทน

แม้ “เคนอิจิโร่ โยชิดะ” จะถือเป็นมือขวาของฮิไรและมีส่วนสำคัญในการกู้วิกฤตของโซนี่ โดยเฉพาะด้านการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กVaio ลดขนาดธุรกิจทีวีและมือถือลงรวมถึงลดพนักงานไปถึง 20,000 ตำแหน่ง แต่ด้วยพื้นเพจากสายการเงินนี้เอง ทำให้หลายฝ่ายทั้งในและนอกบริษัทจับตาว่า ผู้บริหารใหญ่รายนี้จะสามารถเรียกคืนความเป็นเจ้านวัตกรรมเช่นเดียวกับสมัยพัฒนาเครื่องเล่นเพลงวอล์กแมน (Walkman) และโทรทัศน์สีไตรนิตรอน (Trinitron) กลับมาได้หรือไม่ หลังถูกคู่แข่งอย่างซัมซุงและแอปเปิลแซงหน้าไปไกล

สำนักข่าวต่างประเทศรวมถึงญี่ปุ่นหลายแห่งต่างพยายามวิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทางของโซนี่หลังจากนี้ โดยเฉพาะความท้าทายสำคัญอย่างการรักษาโมเมนตัมการเติบโตเอาไว้ รวมถึงเรื่องจุดยืนของบริษัทระหว่างการพยายามกลับเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม หรือจะรักษาทิศทางปัจจุบันที่มีธุรกิจหลากหลาย แต่ยากจะสร้างนวัตกรรมเอาไว้ อีกทั้งตั้งแต่เดือน มิ.ย.จะมีความท้าทายเชิงธุรกิจหลายด้านรวมมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐรอการตัดสินใจของแม่ทัพใหม่รายนี้อยู่ ซึ่งพื้นฐานจากงานสายการเงินอาจทำให้ทิศทางเปลี่ยนไปจากยุคของฮิไร

โดยนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า โจทย์ใหญ่ของโยชิดะคือ ต้องบาลานซ์เม็ดเงินลงทุนระหว่างธุรกิจเสาหลักที่สร้างรายได้ต่อเนื่องและมั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแต่ห่างไกลจากจุดยืนด้านยักษ์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างระบบสมาชิกเพลย์สเตชั่นออนไลน์ ธุรกิจประกันโซนี่ไลฟ์ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

กับการพัฒนาสินค้า-บริการใหม่ที่มีความเสี่ยงว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว อาทิ เครื่องเกมเพลย์สเตชั่นรุ่น 5 การพัฒนาเซ็นเซอร์กล้องถ่ายภาพรุ่นถัดไป รวมถึงธุรกิจบันเทิงซึ่งยังไม่มีทิศทางชัดเจน แต่สัญญาลิขสิทธิ์เพลงจำนวนมากจะหมดอายุในเดือน มิ.ย.นี้ หากบริษัทต้องการรักษาสิทธิ์เอาไว้อาจต้องจ่ายเงินถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนธุรกิจภาพยนตร์ของโคลัมเบียพิกเจอร์ส ก็ยังไม่มีภาพยนตร์ฮิตติดตลาด ปล่อยให้คู่แข่งอย่างดิสนีย์กวาดเม็ดเงินอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“การทำให้บริษัทที่เหมือนคนชราวัยรับบำนาญนี้ กลับเป็นหนุ่มพร้อมเสี่ยงลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกครั้ง จะเป็นความท้าทายหลัก ซึ่งจะเห็นได้เร็ว ๆ นี้จากแผนการบริหารเงินสด 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่บริษัทถืออยู่” เดเมียน ทองค์ จากวาณิชธนกิจแมคไควรี่ กรุ๊ป กล่าว

ไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของพนักงานและนักลงทุนญี่ปุ่นที่แม้จะเชื่อมั่นในฝีมือบริหารความเสี่ยงและการเงินของซีอีโอใหม่ แต่ยังคงจับตาเรื่องนวัตกรรมและสินค้าใหม่อยู่

ด้านเคนอิจิโร่ โยชิดะเอง พยายามเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งพนักงานนักลงทุน และผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ด้วยการย้ำถึงความท้าทายต่าง ๆ ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ทั้งการให้ความเห็นว่าจะเน้นลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้น และทำให้การริเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ ๆเป็นวัฒนธรรมหลักขององค์กร รวมถึงเปิดเผยว่าสินค้าโปรดคือ หุ่นยนต์สุนัขไอโบ

นอกจากนี้ยังประกาศขึ้นเงินเดือนครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในอัตรา 5% พร้อมโบนัสและเมสเสจสั้น ๆ ในจดหมายภายในว่าจะดำเนินธุรกิจเชิงรุกมากขึ้นอีกด้วย


ณ ตอนนี้ต้องรอดูว่าโซนี่จะมีการประกาศนโยบายและทิศทางใหม่อย่างเป็นทางการออกมาหรือไม่ และยักษ์อิเล็กทรอนิกส์จะเลือกเดินไปในเส้นทางใด ระหว่างการทวงคืนตำแหน่งเจ้าตลาดคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย หรือการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลายแต่มั่นคง