
สัมภาษณ์พิเศษ
หลังโควิด-19 คลี่คลาย ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัว แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมากลับมีปัญหาภัยแล้งเข้ามากระทบ จนทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนแผนการบริหารจัดการใหม่
“วี ฟู้ดส์” ผู้ผลิตน้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดฝัก ฯลฯ แบรนด์ “วี ฟาร์ม” วางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ภัยแล้งได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงมองหาวัตถุดิบใหม่ ที่จะมาทดแทนวัตถุดิบหลักได้
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ วี ฟู้ดส์ และ วี ฟาร์ม ถึงภาพรวมการดำเนินงาน และกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤต ไปจนถึงทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป
Q : ภาพรวมการดำเนินงานปี 2566
จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงต้นปี ที่ส่งผลกระทบต่อตัววัตถุดิบทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่าง ข้าวโพด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวด้วยการออกผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ข้าวโพดที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐานก็จะนำมาแปรรูปเป็นเมล็ดข้าวโพดพร้อมทาน น้ำนมข้าวโพด ฯลฯ เพื่อทดแทนข้าวโพดฝัก ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากข้าวโพด เช่น ถั่วแระไทย แห้วพร้อมทาน เป็นต้น
แม้จะมีผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แต่กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์วี ฟาร์ม ที่เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวโพดฝัก ข้าวโพดหวานพร้อมทาน ข้าวโพดตัดท่อน น้ำนมข้าวโพด ฯลฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ และรับประทานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับเซเว่นอีเลฟเว่น ในการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบเกษตรกรไทย โดยวี ฟู้ดส์ จะเข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการทำวิจัยนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการควบคุมคุณภาพ ส่วนของเซเว่นอีเลฟเว่น ก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องขององค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน
ปีนี้เราจะมีการเข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 2 แห่ง คือ บ้านดอนทอง จ.นครปฐม และวิสาหกิจชุมชนแถว จ.พิษณุโลก ด้วยการนำผลไม้ขึ้นชื่อของบ้านดอนทอง อย่างกล้วยหอมทอง และกล้วยน้ำว้า พันธุ์มะลิอ่อง จาก จ.พิษณุโลก มาแปรรูปในลักษณะของ local snack ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม ตะกร้า” จะมีทั้งหมด 5 รายการ
โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะทยอยวางจำหน่ายกล้วยหอมอบเนย กล้วยหอมกรอบ และกล้วยน้ำว้าตาก ก่อนตามลำดับ และต้นปีหน้า 2567 ถึงจะเริ่มทยอยวางจำหน่าย กล้วยน้ำว้าตากหนึบ และกล้วยน้ำว้าตากอบน้ำผึ้งดอกลำไย ซึ่งจะจำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น และช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการขยายไลน์สินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม ตะกร้า” ในครั้งนี้ถือเป็นการปรับพอร์ตให้เข้ากับผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับ local snack ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ให้ได้มาตรฐานระดับโลก
Q : ทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป
เนื่องจากว่าบริษัทจะครบ 10 ปีในต้นปีหน้า จึงได้มีการทบทวนในเรื่องพอร์ตโฟลิโอของสินค้า ซึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่เป็นข้าวโพด เราก็ดูว่าจะเอามาพัฒนาทําโปรดักต์ใหม่อะไรได้บ้าง รวมถึงก็จะเดินหน้าพัฒนาสินค้าในกลุ่มแบรนด์อื่น ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าอยู่ในพอร์ต 4 แบรนด์ และมีสินค้าอยู่ประมาณ 15-20 รายการ
รวมถึงในอนาคตก็มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์วี ฟาร์ม ให้เป็นแบรนด์ที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในกลุ่มคนยุคใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ แล้วก็สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยในปีหน้าก็มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์วี ฟาร์ม ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา และพัฒนาสินค้า
ขณะเดียวกันในปีหน้าก็จะยังคงต่อยอดในเรื่องของการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนควบคู่กันไป
Q : ภาพรวมตลาดแพลนต์เบส
ในช่วง 2-3 ปีหลัง จะเห็นว่ามีแบรนด์สินค้าในกลุ่มนี้จะออกมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อการมีสินค้าออกมาเยอะก็ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ถึงแม้การแข่งขันสูงขึ้นก็ยังคงมีปัจจัยที่อาจจะทำให้ตลาดไม่โตเท่าที่ควร เนื่องจากยังคงมีผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความรู้สึกว่าอาหารในกลุ่มนี้อาจจะยังไม่อร่อย และเป็นอาหารเฉพาะกลุ่ม ก็เลยทําให้ไม่สามารถรับประทานได้บ่อยนัก
รวมถึงราคาที่อาจจะสูง จึงทําให้สินค้าในกลุ่มนี้อาจจะไม่แมสมากเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ทานอาหารประเภทวีแกน แพลนต์เบส หรืออาหารแบบมังสวิรัติ เป็นประจำ ส่วนใหญ่จะมีอยู่ไม่เกิน 5% ของกลุ่มผู้บริโภคทั้งหมด
ขณะที่กลุ่ม food service ร้านอาหาร คาเฟ่ต่าง ๆ ที่มีเมนูวีแกน แพลนต์เบส หรือมังสวิรัติ กลับมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น รวมถึงผู้คนก็ออกนอกบ้านไปทานอาหารที่ร้านมากขึ้น เป็นต้น โดยสินค้าภายใต้แบรนด์มอร์ มีท หรือวี ฟาร์ม แพลนต์เบสฟู้ดส์ เราก็จะเจาะกลุ่มที่เป็นพวก food service มากขึ้น
ที่ผ่านมาบริษัทก็มีการนำผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มอร์ มีท และวี ฟาร์ม แพลนต์เบสฟู้ดส์ เข้าไปทำเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารของร้านอาหารอย่างโจนส์สลัด ร้านต้นกล้าฟ้าใส และคาเฟ่ Etc. Eatery บ้างแล้ว ซึ่งก็จะเน้นทางด้านนี้มากขึ้น แต่ยังไม่มีแผนจะออกสินค้าใหม่ในกลุ่มนี้
Q : แผนการทำตลาดออนไลน์-ออฟไลน์
สำหรับแผนการตลาดก็จะมีการทำ event marketing ทั้งการจัดกิจกรรมโปรโมตสินค้า ด้วยการนำสินค้าไปออกบูท โดยเฉพาะสินค้าภายใต้แบรนด์ “วีฟาร์ม ตะกร้า” เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้อาจจะใช้งบฯการตลาดในการโปรโมตสินค้าค่อนข้างน้อย เนื่องด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้ต้องวางแผนในการใช้งบฯอย่างระมัดระวัง แต่สำหรับในปีหน้าจากการที่บริษัทมีแผนจะออกสินค้าใหม่ จึงคาดว่าจะมีการใช้งบฯการตลาดที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงต้องคอยระมัดระวังในเรื่องของต้นทุนที่อาจจะเกิดการผันผวนอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ที่ลอนช์ออกมาใหม่ภายใต้แบรนด์ “วี ฟาร์ม ตะกร้า” ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปีหน้าจะเติบโตขึ้น 40-50% อย่างแน่นอน จากที่ปัจจุบันเติบโตเพียงแค่ 10-15%