ธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งฝุ่นตลบ ยึดฟรีทีวีขายสินค้าเพิ่มยอด

ทีวีโฮมช็อปปิ้งหมื่นล้านฝุ่นตลบ ยึดเวลาฟรีทีวี 22 ช่อง ขายสินค้าเกลื่อนจอ “ทีวีไดเร็ค” สั่งลุย เพิ่มความถี่ เพิ่มช่อง ยิงโฆษณาแน่น ขณะที่โอ ช้อปปิ้ง ทรูซีเล็คท์ ช็อปชาแนล เดินตามรอยเหมาเวลา เพิ่มโอกาส กระตุ้นยอดขาย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้จะกดรีโมตเปลี่ยนไปช่องไหน ก็คงหนีไม่พ้นสปอตโฆษณาขายสินค้าจากบรรดาทีวีโฮมช็อปปิ้งหลาย ๆ ราย ทั้ง ทีวีไดเร็ค โอ ช้อปปิ้ง ช็อปชาแนล ไฮช็อปปิ้ง เรียกว่าพาเหรดกันนำเสนอสินค้าในทุกช่วงเวลาตลอดวัน จนเกิดปรากฏการณ์ทีวีโฮมช็อปปิ้งเกลื่อนจอฟรีทีวี

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการลดงบฯโฆษณาของหลาย ๆ สินค้า เพราะยอดขายไม่โต ขณะที่สื่อก็มีพื้นที่โฆษณาเหลือจำนวนมาก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ตลาดทีวีโฮมช็อปปิ้งเติบโต จากปัจจุบันที่มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพราะที่ผ่านมาฟรีทีวีมีราคาโฆษณาสูง โดยเฉพาะช่อง 3-7 ที่พุ่งขึ้นไปถึง 450,000-500,000 บาทต่อนาที อีกทั้งยังไม่มีเวลาเหลือให้ทีวีโฮมช็อปปิ้ง เมื่อมีโอกาสผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งจึงเปิดเกมรุกด้วยการเช่าพื้นที่โฆษณาทีวีทั้ง 22 ช่องเป็นพื้นที่ขายสินค้า เพื่อสร้างยอดขายสินค้า สร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

“การยิงสปอตโฆษณาขายสินค้าผ่านฟรีทีวีของทีวีโฮมช็อปปิ้งอาจถูกตั้งคำถามว่า ไม่คุ้มค่า เพราะราคาโฆษณาสูง แต่โมเดลนี้ถือว่าสร้างยอดขายได้จริง ด้วยการวัดผลจากการยิงสปอตโฆษณาของสินค้าแต่ละประเภท ว่ามียอดขายดีแค่ไหน มีคนสนใจ สั่งซื้อและปิดการขายได้”

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง ระบุว่า โมเดลดังกล่าวถือว่าถูกพิสูจน์ความสำเร็จจากกรณีกระทะโคเรียคิง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กระทะวู้ดดี้” ที่ทุ่มเงินซื้อเวลาโฆษณาของช่อง 9 แทบยกผัง ส่งให้โคเรียคิงติด 1 ใน 5 ของบริษัทที่ใช้งบฯโฆษณาสูงสุดต่อเนื่องหลายปี อีกทั้งยังมียอดขายถล่มทลายพร้อมสร้างการจดจำให้ผู้บริโภคได้ในเวลารวดเร็ว

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้จะเดินหน้าโฆษณาสินค้าผ่านช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มจำนวนช่องและความถี่ในการยิงสปอตโฆษณาของช่องที่ออกอากาศด้วย เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมพัฒนาเนื้อหาการสื่อสารกับผู้บริโภค โปรโมตสินค้าที่เป็นไฮไลต์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสุขภาพความงาม เช่น สบู่กลูต้า ถั่งเฉา เป็นต้น เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปีนี้จะโต 17% จากปีก่อนหรือมีรายได้ 3,990 ล้านบาท

ยกตัวอย่างเช่น การยิงสปอตเพื่อสร้างยอดขายก็บอกราคา บอกสรรพคุณสินค้า และโปรโมชั่นอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการซื้อทันที และกรณีที่สินค้ามีความซับซ้อน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม ก็จะมีแค่ชื่อสินค้า และเบอร์ติดต่อเท่านั้น เมื่อผู้บริโภคติดต่อกลับ ก็จะได้อธิบายสรรพคุณสินค้าพร้อมทั้งเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งรายใหญ่ เพิ่มความถี่ในการโฆษณาขายสินค้าผ่านทีวีมากขึ้น จากเดิมที่มีช่องทีวีดาวเทียมของแต่ละรายอยู่แล้ว โดยโอ ช้อปปิ้ง ก็โฆษณาผ่านช่องวันและจีเอ็มเอ็ม 25 ในเครือแกรมมี่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของโอ ช้อปปิ้ง ด้วย ส่วนช็อปชาแนล ก็เช่าเวลาโฆษณาช่อง 14 แฟมิลี่ของ อสมท และทรูซีเล็คท์ที่โฆษณาผ่านช่องในเครืออย่าง “ทรูโฟร์ยู”

สอดรับกับนายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด มีเดียเอเยนซี่ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ทีวีโฮมช็อปปิ้งใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อเป็นเบอร์ 1 ของตลาด เนื่องจากปัจจุบันทีวีทั้ง 22 ช่องมีสลอตเวลาโฆษณาเหลือ กลุ่มทีวีโฮมช็อปปิ้งจึงเหมาเวลาของช่องเหล่านี้ได้ในราคาไม่แพง พร้อมกับสร้างแคมเปญ ยิงโฆษณาขายสินค้า กลายเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างยอดขายให้แก่ธุรกิจอีกทาง ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือโฆษณาทีวีโฮมช็อปปิ้งถูกฝังอยู่ในทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้าจนค่ำ แม้กระทั่งช่วงเวลาไพรมไทม์ของช่องใหญ่ ซึ่งโมเดลการเช่าเวลาโฆษณาระหว่างช่องกับผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งแต่ละรายก็แตกต่างกัน เช่น บางรายเหมาเวลาโฆษณาในราคาต่ำ หรือแบ่งสัดส่วนรายได้กัน เป็นต้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้แตกต่างจากตอนที่มีทีวี 4 ช่อง ซึ่งเวลาไม่พอ โฆษณาทีวีโฮมช็อปปิ้งจึงอยู่หลังเวลา 24.00 น. ส่วนตอนนี้สถานการณ์โฆษณาไม่ดี ถ้าเวลาไหนไม่ก่อให้เกิดรายได้ ช่องก็ปล่อยเช่า ขณะที่โฮมช็อปปิ้งก็เพิ่มยอดขายได้ ถือว่า วิน-วิน”