RHYTHM & BOYd แตกค่าย…ติดปีก “เลิฟอีส” โกอินเตอร์

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

จากค่าย “เบเกอรี่ มิวสิก” สู่ “เลิฟอีส”…. เจ้าพ่อเพลงรัก นักแต่งเพลงมือทอง “บอย โกสิยพงษ์” หรือ “ชีวิน โกสิยพงษ์” หัวเรือใหญ่เลิฟอีส ผ่านคลื่นลมที่ถาโถมอุตสาหกรรมเพลงระลอกแล้วระลอกเล่ากับความท้าทายสำคัญที่รายได้หลักของธุรกิจเพลงวันนี้ไม่ได้มาจากการขายเทป ซีดี อีกต่อไป ทำให้รูปแบบการทำงานของคนในวงการเปลี่ยน ไม่ต่างจาก “เลิฟอีส” ที่วันนี้ คอนเสิร์ต, โชว์บิซ และธุรกิจอื่น ๆ กลายมาเป็นตัวทำกำไรทดแทนกำไรจากการขายซีดีที่ลดลงไปการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ “บอย” ย้ำว่า ทำแบบเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว

เทคโนโลยีเปลี่ยนเกม

จริง ๆ เขาเห็นเมฆฝนเริ่มตั้งเค้าตั้งแต่ยุคเพลงเอ็มพีสามเบ่งบาน การเกิดขึ้นของบริการแชร์เพลงออนไลน์ “แนปสเตอร์” (Napster) ทำให้ “บอย” ฉุกคิดว่าต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ ตอนนั้นจึงตั้งรับ เปลี่ยนมาโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าองค์กร (บีทูบี) ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ มากขึ้น แทนการขายซีดีเพลงให้กับผู้ฟังทั่วไป (บีทูซี) ที่ตอนนั้นยังเป็นรายได้หลัก พร้อมกับการสร้างศิลปินใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานผู้ฟัง และโปรโมตสร้างการรับรู้ด้วยการแจกซีดีกว่าล้านแผ่นเพื่อเข้าถึงแฟน ๆ กว่าล้านคนทั่วประเทศ กับการเติบโตของสื่อออนไลน์ที่เข้ามาเป็นคลื่นลมระลอกใหม่

ในตอนนี้ บอสเลิฟอีสก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารกับแฟนเพลง ข้อดีคือ ต้นทุนที่ต่ำหรือแทบไม่มีเลย เช่น การขายบัตรคอนเสิร์ต RHYTHM & BOYd ที่ผ่านมา สามารถขายบัตรหมื่นกว่าใบหมดภายใน 15 นาที ด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเพียงช่องทางเดียว ผิดกับแต่ก่อนที่ต้องทุ่มงบฯโปรโมตหลายทางเพื่อสื่อสารไปถึงคนในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ก็เห็นโอกาสจากความนิยมใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่ผู้คนใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน 3 ปีก่อนจึงร่วมกับ “เอ็มเฟค” บริษัทไอทีสร้างแอปพลิเคชั่นชื่อแฟนสเตอร์ (Fanster) ขึ้นมาเป็นช่องทางที่ทำให้ศิลปิน ดารา นักกีฬา นักเขียน ฯลฯ หรือใครก็ได้ที่มีแฟน ๆ ของตัวเอง ไม่จำกัดค่ายหรือสังกัด ได้ใกล้ชิดแฟน ๆ ได้มากขึ้น

โดยนอกจากจะดึงฟีดในโซเชียลมีเดียของศิลปินที่กดติดตามมาไว้ในแอปนี้ ผู้ใช้แอปยังจะเห็นแฟนฟีดที่เกี่ยวข้องกับศิลปินนั้น ๆ พร้อมสะสมเหรียญจากการใช้งานนำไปใช้ปลดล็อกเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ได้ด้วย ส่วนศิลปินก็สามารถทำแฟนคลับแมเนจเมนต์จากข้อมูลหลังบ้านที่แอปพลิเคชั่นมี ขณะที่เลิฟอีสก็จะมีรายได้ผ่านการโฆษณาหรือกิจกรรมต่าง ๆ

ส่งออกเพลงทั่วเอเชีย

ปัจจุบันแฟนที่ใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่มีการใช้งานจากชาวจีนจำนวนไม่น้อย ความหวังที่อยากให้ แฟนสเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงคนได้ทั้งโลกเริ่มเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

หัวเรือใหญ่เลิฟอีสยืนยันว่า เพลงยังขายได้แต่ไม่ใช่ขายด้วยวิธีเดิม เหมือนกับอาหาร กระเป๋า รองเท้า ที่ถ้าขายแบบเดิมก็จะได้ราคาเท่าเดิมพร้อมกับความนิยมที่จะเสื่อมลง วิธีการนำเสนอเพลงจากนี้จึงต้องทำเพลง ทำศิลปินให้เป็นแบรนดิ้ง โดยร่วมมือกับหลาย ๆ คนมาช่วยกันต่อยอดสร้างรายได้ได้มากขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นบอยแบรนด์ เกิร์ลกรุ๊ป หรือศิลปินแจ๊ซหนัก ๆ จะต้องถูกสร้างแบรนดิ้ง… คือทุกคนเป็นตัวของเขาเอง แต่เราจะมีทีม มีวิธีคิดของเราที่จะทำตัวตนของเขาให้ชัดเจนเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น”

ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปที่กำลังมาแรงก็ถือเป็นแบรนดิ้งแบบหนึ่งเช่นกัน เลิฟอีสมี “สเวตซิกซ์ทีน” (Sweat 16) ที่ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์จากญี่ปุ่น โยชิโมโต้ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งพร้อมสนับสนุนส่งออกผลงานไปทั่วเอเชีย รวมทั้งมีกลุ่มบอยแบนด์ดาวรุ่ง “เอสบีไฟว์” เด็กหนุ่ม 5 คนจากความร่วมมือของเลิฟอีส สตาร์ฮันเตอร์ และโฟโนล็อก ที่โด่งดังมาจากละคร มีกระแสที่ดีมากในจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ก็เพิ่งจัดงานเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนจะเดินหน้าจัดทัวร์ 7 ประเทศในปีนี้

แตกค่าย…โกอินเตอร์

กับแนวเพลงของค่ายที่หลากหลายขึ้น ปีนี้จึงจะแตกค่ายออกมาเป็นทั้งหมด 5 ค่าย ได้แก่ เลิฟอีส, ฟายเวย์ เน้นฮิปฮอปไอดอล, เอสคาเลต ที่เป็นกลุ่มไอดอลล้วน ๆ, อาวองการ์ด ที่เป็นเพลงแนว experimental เช่น แจ๊ซ ฯลฯ และอีกค่ายที่เน้นแนวเพลงอะคูสติกพ็อปซึ่งยังอยู่ระหว่างคิดชื่อ

“ปีนี้จะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ของเลิฟอีสอีกเยอะ วาไรตี้ของเพลงจะหลากหลายขึ้น มีแนวที่ชัดเจนขึ้น เป้าหมายนอกจากเพื่อตอบสนองผู้ฟังในไทย ก็ยังมองการส่งออกไปต่างประเทศ เป้าหมายตอนแรกคือเอเชีย ถ้าทำที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่นสำเร็จ ก็เชื่อว่าประเทศอื่นเราก็จะทำสำเร็จ”

คอนเทนต์ต้องปรับให้เหมาะกับผู้ฟังแต่ละประเทศไหม…”บอย” มองว่าเพลงไทยก็เหมือนอาหารไทยที่มีรสชาติของตัวเอง เหมือนกับศิลปินไทยที่มีเนื้อหา มีรสชาติของเขา ซึ่งจะนำเสนอในรูปแบบที่ศิลปินเป็น ผ่านทุกแพลตฟอร์มที่จะช่วยเข้าถึงแฟน ๆ ได้กว้างขึ้น

“โลกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ถูกดิสรัปต์ (disrupt) ก็จริง แต่เป็นการถูกดิสรัปต์เพื่อให้เราได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนตัวเอง ถ้ายังทำแบบเดิมคงไม่สามารถเดินต่อไปได้ โลกเอ็นเตอร์เทนเมนต์วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นโลกที่ต้องมีแบรนดิ้งเข้ามาด้วย”

คติของ “บอย โกสิยพงษ์” ในการนำพาเลิฟอีสให้เติบโตจากนี้จึงไม่ต่างกับหลาย ๆ บทเพลงที่เขาเคยเขียนไว้

รู้จักอดทนเวลาที่ฝนพรำ… อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝันและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด