ทีวีดิจิทัลดิ้นแก้โจทย์ต้นทุนพุ่ง-รายได้ไม่เพิ่ม ปล่อยแอร์ไทม์ให้ทีวีโฮมช็อปปิ้งเช่า “อสมท” ผนึก “ช็อปชาเนล” เพิ่มเรตติ้งช่อง 14 แฟมิลี่ ขณะที่ “สปริงนิวส์” ดึงทีวี ไดเร็ค บริหารผังรายการ ผลิตข่าว-ขายของ เผยกลุ่มเรตติ้งท้ายตารางลุ้นรัฐคลอดมาตรการเยียวยา สมาคมออกโรงยื่นข้อเสนอใหม่ขอให้เปลี่ยนมือผู้ถือใบอนุญาตได้
ยังอยู่ในอาการ “ลุ้น” อย่างหนัก สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชงให้เรื่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะได้ข้อสรุปก่อนที่ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ที่กำหนดจะจ่ายในเดือนพฤษภาคมนี้ และระหว่างรอความชัดเจน ทีวีดิจิทัลหลาย ๆ ค่ายก็เดินหน้าสู้ต่อด้วยการงัดสารพัดวิธีมาเพื่อลดต้นทุนภายในองค์กร อีกด้านหนึ่งก็พยายามจะหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามาเสริม
ท้ายตารางให้เช่าเวลาหารายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ทีวีดิจิทัลหลาย ๆ ช่องได้หันมาให้น้ำหนักกับการปล่อยเวลาให้แก่ธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง เพื่อสร้างรายได้ให้สถานี อาทิ ทีวี ไดเร็ค ที่เช่าเวลามากถึง 20 ช่อง จาก 22 ช่อง ตามด้วย โอช็อปปิ้ง เช่าเวลาของช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ขณะที่ทรูซีเล็คท์ที่ขายสินค้าผ่านช่องทรูโฟร์ยู เพิ่มความถี่ของรายการขายสินค้าเพิ่มขึ้น ด้วยการวางผังรายการไว้ทุกช่วงเวลาไม่เว้นแม้แต่เวลาไพรมไทม์ หรือละครหลังข่าว 20.00 น. จากเดิมที่วางรายการไว้เฉพาะช่วงหลังเวลา 24.00 น.เท่านั้น
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจทีวีดิจิทัลที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มทีวีที่มีเรตติ้งไม่ดี ได้มีการปรับตัวต่อเนื่อง ล่าสุดให้ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งเข้ามาเช่าเวลาเพื่อขายสินค้า เช่น อสมท ช่องวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดกว้างสำหรับการหาพันธมิตรมาผลิตรายการร่วมด้วย เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ส่วนกลุ่มที่มีเรตติ้งดี เช่น ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ โมโน 29 เป็นต้น ก็มีงบฯโฆษณาไหลเข้ามาต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการเติมคอนเทนต์และรายการใหม่ ๆ อยู่ตลอด
“ตอนนี้นอกจากการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งแต่ละค่ายก็มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าคอนเทนต์ บุคลากร ค่าโครงข่าย แต่รายได้จากโฆษณายังมีเข้ามาไม่มากนัก ดังนั้น ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้จะต้องจับตาความเคลื่อนไหวของแต่ละค่ายอีกครั้ง
ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งต้องรอลุ้นว่ารัฐบาลจะมีมาตรการการเยียวยาอย่างไร เนื่องจากเดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนที่จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาต งวดที่ 5 หากรัฐไม่มีมาตรการเยียวยาออกมาช่องท้าย ๆ ตารางก็อาจจะตัดสินใจออกจากตลาด เพราะไม่สามารถแบกต้นทุนต่อไปได้”
อสมท-สปริงนิวส์จับโฮมช็อปปิ้ง
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง เอ็มคอท 30 เอชดีและช่อง 14 แฟมิลี่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ อสมท อยู่ระหว่างการหาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อนำมาช่วยสร้างรายได้ให้กับช่อง 14 แฟมิลี่ ที่มีเรตติ้งไม่สูง หนึ่งในนั้นก็คือ การจับมือกับทีวีโฮมช็อปปิ้ง “ช็อปชาเนล” ในการเข้ามาทำรายการขายสินค้า พร้อมกับมีการปรับผังรายการใหม่ โดยเติมคอนเทนต์ภาพยนตร์จีน การ์ตูน เพราะถ้าจะให้เป็นช่องขายของอย่างเดียวก็คงไม่มีผู้ชม
“เราเชื่อว่า ถ้ามีรายการดี คนดูก็เพิ่มขึ้น ทีวีโฮมช็อปปิ้งก็ขายของได้ ถือเป็นกลยุทธ์ วิน-วิน ทั้งคู่ เพราะช่องก็มีรายได้และทีวีโฮมช็อปปิ้งก็ขายของได้”
ขณะที่ นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดได้เซ็นสัญญากับช่องสปริงนิวส์ 4 ปี ในการผลิตรายการข่าวธุรกิจและเช่าเวลาขายสินค้า โดยจะเข้าบริหารผังรายการในสัดส่วน 50% ของผังทั้งหมดในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งทีวี ไดเร็ค มีนโยบายจะเช่าเวลาขายสินค้าเพิ่มในทุกช่อง เนื่องจากเชื่อว่าคนยังดูทีวีอยู่และทีวียังเป็นสื่อหลัก เพียงแต่จำนวนคนดูลดลง ด้วยแนวโน้มดังกล่าวทำให้บริษัทเดินหน้าเช่าเวลา เพื่อกระตุ้นการขายสินค้าอย่างเต็มที่
โดยปีนี้วางงบฯ ลงทุนด้านมีเดียไว้ 700 ล้านบาท ปัจจุบันขายสินค้าใน 20 ช่อง ล่าสุดเตรียมเจรจากับ ช่อง 8 คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
“ช่องอื่น ๆ เราใช้วิธีการเช่าเวลาเป็นหลัก เฉพาะช่องสปริงนิวส์เท่านั้นที่ผลิตรายการร่วมกัน โดยดำเนินงานตามข้อบังคับที่ กสทช.วางไว้ และไม่ได้มีการเข้าไปถือหุ้นแต่อย่างใด”
สอดรับกับรายงานของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ที่เปิดเผยการใช้งบฯ โฆษณาผ่านสื่อช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) ว่า บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) มีการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อเป็นอันดับที่ 2 รองจากยูนิลีเวอร์ โดยมีมูลค่า 680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้ 72 ล้านบาท และหากเจาะเฉพาะรายแบรนด์พบว่า กลุ่มทีวีโฮมช็อปปิ้งก็ยังใช้งบฯโฆษณาติด 1 ใน 5 ของแบรนด์ที่ใช้งบฯ สูงสุดถึง 2 แบรนด์ คือ ทีวี ไดเร็ค และกระทะโคเรียคิงส์
“วิน-วิน” ทั้ง 2 ฝ่าย
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด มีเดียเอเยนซี่ แสดงความในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันทีวีทั้ง 22 ช่อง มีสลอตเวลาโฆษณาเหลือจำนวนมาก ทำให้กลุ่มทีวีโฮมช็อปปิ้ง เข้าไปเหมาเวลาของช่องต่าง ๆ ได้ในราคาไม่แพง ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างยอดขายให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือว่าวิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย โดยในแง่ของช่องก็มีรายได้จากการปล่อยเช่าเวลา ส่วนทีวีโฮมช็อปปิ้งก็มียอดขายเพิ่มขึ้น หากสังเกตจะเห็นได้ว่ารายการโฆษณาทีวีโฮมช็อปปิ้งถูกฝังอยู่ในทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้าจนค่ำ รวมถึงช่วงเวลาไพรมไทม์
ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดได้เสนอมาตรการเยียวยาใหม่
“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการเปลี่ยนมือผู้ถือใบอนุญาต หรือ ควบรวมกิจการได้ เพราะเม็ดเงินที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ทั้งค่าโครงข่าย ค่าใบอนุญาต 4 งวด จะได้ไม่สูญเปล่า และยังดำเนินธุรกิจต่อได้จากการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หรือ การเปลี่ยนเจ้าของมากกว่าการปล่อยให้จอดำ”