Fairtex เจาะตลาดโลก ต่อยอด Soft Power “มวยไทย”

สัมภาษณ์

หากพูดถึงการทำ Soft Power ด้วยสินค้าแฟชั่นที่แฝงอัตลักษณ์ความเป็นไทยเอาไว้ แฟร์เท็กซ์ (Fairtex) นับเป็นแบรนด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยไลน์อัพสินค้า อย่างชุดฝึกบราซิเลียน ยิวยิตสูที่ออกแบบโดยอิงตัวละครมัจฉานุ จากรามเกียรติ์ หรือชุดแรชการ์ด หนุมานและนิลพัท รวมไปถึงจับมือดีไซเนอร์ชื่อดัง อาทิ URFACE มาผลิตอุปกรณ์กีฬามวยไทย เช่นเดียวกับเดินสายจัดกิจกรรมแนะนำกีฬามวยไทยและสินค้าในต่างประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชาโณ เหนือเมฆิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟร์เท็กซ์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ากีฬาและแฟชั่นแบรนด์ Fairtex ถึงแนวคิดและแนวทางการต่อยอดกระแส Soft Power ของแฟร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สร้างจุดขายด้วย Soft Power มาอย่างยาวนาน

ผสาน Soft Power สู่กีฬามหาชน

“ชาโณ” กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมชุดกีฬาต่อสู้อย่างมวยเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือกระแส Soft Power ทั้งนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้มวยไทยเป็น Soft Power ทำให้รัฐและเอกชนต่างทุ่มงบฯสนับสนุนและจัดกิจกรรมกีฬามวยช่วยขยายฐานลูกค้าออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ และปี 2567 นี้มวยไทยจะเป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสด้วย หลังได้บรรจุในยูโรเปียน เกมส์ 2023 ไปก่อนแล้ว

ขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ พร้อมหนุนความต้องการเรียนมวยไทยของชาวไทยและชาวต่างชาติได้แบบครบลูป ตั้งแต่ยิม-ค่ายมวยไทยซึ่งหาได้เกือบทุกที่ เช่นเดียวกับซัพพลายเออร์อุปกรณ์พร้อมรองรับทุกไซซ์และระดับราคา ไปจนถึงเทรนด์การใส่ชุดกีฬาในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนสามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้

ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของแฟร์เท็กซ์ในปี 2567 นี้ และปีถัด ๆ ไปจะเป็นการปรับภาพลักษณ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค ให้มวยไทยเป็นกีฬาที่อยู่ในชีวิตประจําวันของทุกคนอย่างแท้จริง เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศให้กว้างยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกวงการมวยหรือกีฬาต่อสู้ หลังจากที่ผ่านมาผู้บริโภคทั่วไปเริ่มมาเป็นลูกค้ามากขึ้น

ADVERTISMENT

โดย Soft Power เป็นยุทธศาสตร์ที่บริษัทใช้มาตลอด ทั้งการใช้ Soft Power จากภายนอก เช่น วรรณคดีไทย เลขไทย การใช้กรุงเทพฯ แทน Bangkok หรือใช้ Soft Power ภายในอย่างโพซิชั่นแบรนด์มวยไทยของแฟร์เท็กซ์เองมาช่วยผลักดันสินค้าไปเจาะกลุ่มผู้เล่นกีฬาชนิดอื่น ๆ หรือผู้บริโภคนอกวงการกีฬา พร้อมสร้างการรับรู้ วัฒนธรรม และแง่มุมต่าง ๆ ของไทยไปพร้อมกัน

ตัวอย่างที่สะท้อนศักยภาพของสินค้าที่ใส่ Soft Power เข้าไป อาทิ ไลน์อัพชุดฝึกกีฬาบราซิเลียนยิวยิตสู ที่นำตัวละครรามเกียรติ์มาใช้

ADVERTISMENT

โดยนอกจากตัวละครดังอย่างหนุมานและมัจฉานุแล้ว ยังมียักษ์ชื่อตรีบูรัม ซึ่งเป็นตัวละครสําคัญที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงแม้แต่ในไทย แต่เมื่อสินค้าวางตลาดผู้คนทั้งไทยและต่างชาติเริ่มรู้จักตรีบูรัมกันมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับแบรนด์ญี่ปุ่นผลิตชุดฝึกยิวยิตสูที่ผสมผสานศิลปะญี่ปุ่นและไทย เช่น ลวดลายคลื่นบนชุดจะมีทั้งคลื่นที่วาดแบบญี่ปุ่นและวาดแบบไทย รวมถึงผ้าพันมือสำหรับชกมวยในคอลเล็กชั่น พระนคร ที่ออกแบบสไตล์วินเทจเหมือนผ้าพันมือนักมวยสมัยก่อน หรือเสื้อ-อุปกรณ์ที่ใช้เลขไทยแทนเลขอารบิก ใช้กรุงเทพฯ แทน Bangkok เป็นต้น

ย้ำ Identity…“บริษัทไทย”

สำหรับปี 2567 นี้ ช่วงไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังจะมีสินค้าสไตล์ Soft Power ออกมาเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมวดใหม่อย่าง มวยชอต ซึ่งเป็นเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอายของกีฬามวย แต่ออกแบบมาให้ใช้ในชีวิตประจําวันได้จริง เช่น กางเกงมวยแบบมีกระเป๋าข้าง และกางเกงดีไซน์ย้อนยุค เหมือนกางเกงมวยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมสตอรี่อธิบายที่มาของว่านี่คือกางเกงมวยแบบเก่าของไทย

รวมถึงคอลเล็กชั่นที่คอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ต่าง ๆ อีก 3-4 แบรนด์ เพื่อรับกระแสการใส่ชุดกีฬาในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ เชื่อว่ายังไม่มีแบรนด์ไหนที่มีแนวทางธุรกิจลักษณะนี้ เพราะว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์อื่น ๆ ไม่ได้สื่อถึงมวยมากนัก ต่างจาก Fairtex ที่มีภาพลักษณ์มาทางมวยนานกว่า 50 ปี จึงสามารถทำให้ผู้บริโภคเชื่อมโยงกับกีฬามวยได้ชัดเจน

เวลาออกสินค้าจะคิดก่อนว่าสามารถจะแนะนําความเป็นไทยไปแบบ Contemporary ไปสอดแทรกในแง่มุมไหนได้บ้าง ผ่านเครื่องมืออะไรได้บ้าง ผ่านสื่ออะไรได้บ้าง เพราะด้วยตําแหน่งทางการตลาดหลักของ Fairtex ในฐานะบริษัทไทยในตลาดโลก จึงต้องการเน้นย้ำ Identity ว่าเราคือบริษัทไทย ขณะเดียวกัน จะใช้โพซิชั่นแบรนด์สินค้ามวยไทยของ Fairtex มาพัฒนาสินค้าอื่น เช่น มวยชอต ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่เราคิดขึ้นสำหรับไลน์สินค้าไลฟ์สไตล์

บุกตะวันออกกลาง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฟร์เท็กซ์ กล่าวต่อไปว่า ไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะรุกปั้นรากฐานและอีโคซิสเต็มของกีฬามวยไทยในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีศักยภาพ

เพราะความนิยมกีฬาต่อสู้อย่างบราซิเลียนยิวยิตสู และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสม หรือ MMA อยู่แล้ว และเริ่มรู้จักมวยไทย แต่ยังไม่มีค่ายมวย-การแข่งขันทำให้นักมวยต้องเดินทางมาฝึกและชกในไทย หรือประเทศเอเชียอื่น จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปวางรากฐานกีฬามวยไทย

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันตะวันออกกลางยังมีแนวโน้มเปิดรับการจัดแข่งขันกีฬาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เทนนิส ฟุตบอล รวมไปถึงกีฬาต่อสู้อย่าง MMA ด้วย โดยจะมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มให้ครบวงจร เริ่มตั้งแต่ค่ายมวยไทย การจำหน่ายสินค้า และกิจกรรมสร้างการรับรู้ ไปจนถึงจัดการแข่งขันชกมวยไทยในประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ เล็งปักฐานในกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมผู้สนใจกีฬาต่อสู้ หลังมีนักกีฬาต่อสู้ดัง ๆ มาเปิดยิมฝึกสอนกันเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับยุโรปตะวันออกและละตินอเมริกา ซึ่งยอดสั่งสินค้าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความสนใจกีฬามวยไทยและศักยภาพในการเข้าไปวางรากฐานธุรกิจกีฬามวยไทย

“ชาโณ” ย้ำในตอนท้ายว่า เป้าหมายสำหรับปี 2567 นี้ นอกจากการเติบโตของรายได้และกำไรแล้ว ยังต้องพัฒนากีฬาและอุตสาหกรรมมวยไทยทั้งในไทยและต่างประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมทั้งต่อยอดแบรนด์ Fairtex ออกไปให้กว้างขวางกว่าการเป็นแบรนด์กีฬามวยไทยหรือกีฬาต่อสู้