ย้อนรอยปรากฏการณ์ ทุนใหญ่ฮุบ “ทีวีดิจิทัล” ใครจะเป็นรายต่อไป

ผ่านมาแล้ว 3 ปี สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก โดยเกือบทั้งหมดประสบภาวะขาดทุน โดยเฉพาะพีพีทีวี ณ สิ้นปี 2559 ขาดทุนมากถึง 1,996 ล้านบาท ตามด้วยไทยรัฐทีวี 928 ล้านบาท และอมรินทร์ทีวี 846 ล้านบาท (ข้อมูลจากรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) เว้นแต่ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ทีวี เป็นเพียง 2 ช่องที่สามารถทำกำไรได้ 1,567 ล้านบาท และ 106 ล้านบาท ตามลำดับ

กระแสข่าวที่ว่า หลายช่องกำลังหาผู้ร่วมทุนใหม่ยังคงดังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้ และว่าบางช่องประสบความสำเร็จในการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ เตรียมประกาศดีลใหญ่อีกครั้งในเร็ววันนี้ด้วย ซึ่งน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ดีลล่าสุดนี้จะเป็นการขยายอาณาจักรธุรกิจของกลุ่มทุนใหญ่หน้าเดิม หรือเป็นทุนใหม่ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล

หลังจากปลายปี 2559 ที่ผ่านมา มีกลุ่มทุนใน 2 ตระกูลใหญ่ เริ่มจากบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด (กลุ่มบริษัทในเครือปราสาททองโอสถ) ทั้ง ๆ ที่มีช่องพีพีทีวีอยู่ในมือแล้ว ได้เข้าซื้อหุ้น 50% (1,905 ล้านบาท) จากบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ช่อง ONE

อีกแห่งคือ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด (ในเครือสิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง) ซื้อหุ้น 47.62% (850 ล้านบาท) จากบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องอมรินทร์ทีวี (Amarin TV)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ “กสทช.” โดยนายศิวัจน์ ชลวร และนางสาวณัฐชญา ทวีวิทย์ชาครียะ ได้เขียนบทความวิเคราะห์การซื้อขายกิจการทีวีดิจิทัล กรณีการเข้าซื้อหุ้นช่องอมรินทร์ทีวีและช่อง ONE ใน 2 ประเด็นหลัก คือด้านกฎหมาย และการเคลื่อนย้ายทุนและการควบรวมกิจการ

ในด้านกฎหมายทั้งสองกรณีเป็นการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าของในบริษัทที่ถือครองใบอนุญาต โดยบริษัทที่ถือครองใบอนุญาตยังเป็นบริษัทเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับใบอนุญาต หรือโอนให้บุคคลอื่น 

เพราะในมาตรา 9 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และมาตรา 49 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดว่า “ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต จะโอนแก่กันมิได้”

สำหรับในมุมของการเคลื่อนย้ายทุนและการควบรวมกิจการนั้น การเข้าซื้อหุ้นช่องอมรินทร์ทีวีของตระกูลสิริวัฒนภักดี และการเข้าซื้อหุ้นช่อง One ของกลุ่มปราสาททองโอสถ เป็นการเคลื่อนย้ายทุนจากอุตสาหกรรมอื่นเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรทัศน์ ทำให้กลุ่มทุนใหม่มีการขยายตัวมากขึ้น 

และยังไม่ใช่การตกลงซื้อขายหุ้นหรือทำสัญญาธุรกิจเท่านั้นแต่ได้สะท้อนภาพของการควบรวมกิจการจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปสู่อุตสาหกรรมหนึ่งด้วย

โดยการซื้อหุ้น 50% ในช่อง One ของกลุ่มปราสาททองโอสถเป็นการควบรวมกิจการในแนวนอน (Horizontal Integration) หรือการควบกิจการในธุรกิจประเภทเดียวกันที่หมายถึงการครอบครองหรือควบคุมคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด และสร้างเครือข่ายสื่อโทรทัศน์ให้ใหญ่ขึ้น เพราะมีช่องพีพีทีวีอยู่แล้ว และการเข้าถือหุ้นช่อง One ด้วยจึงไม่เสี่ยงมากนัก เนื่องจากเรตติ้งช่อง One อยู่ในเกณฑ์ดี ติดหกอันดับแรก (ข้อมูลถึง พ.ย. 2559)

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการในแนวนอนส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดลดลง โดยเฉพาะในกรณีของการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดและใช้อำนาจเหนือตลาดในลักษณะที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค

ซึ่ง กสทช.ได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การถือหุ้นไขว้ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อใช้พิจารณาว่า การควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดหรือไม่ โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่จะดำเนินการควบรวมกิจการต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน กสทช.ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนดำเนินการ

ส่วนกรณีเบียร์ช้างเข้าซื้อหุ้นช่องอมรินทร์ทีวีนั้น อาจมองได้ว่า เป็นการควบรวมกิจการแบบผสม โดยเป็นการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับธุรกิจเดิม

เป็นการเคลื่อนย้ายทุนจากอุตสาหกรรมหนึ่งไปสู่อุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อต้นทุนทางธุรกรรมลดลงได้เปรียบในการแข่งขัน และผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าสู่ธุรกิจสื่อโทรทัศน์ของเบียร์ช้างอาจวิเคราะห์บนพื้นฐานเรื่องต้นทุนทางธุรกรรมที่ลดลง และประโยชน์ที่จะได้รับดังนี้

1.เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ในราคาไม่แพงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาใบอนุญาตที่ต้องจ่ายหากร่วมประมูลในปี 2556

โดยกลุ่มเบียร์ช้างใช้เงิน 850 ล้านบาท ครอบครองหุ้น 47.62% จากบริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ขณะที่บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ต้องใช้เงินถึง 3,320 บาท เพื่อชนะประมูลของรายการดิจิทัลแบบความคมชัดสูง

2.การเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ยังส่งเสริมธุรกิจอื่นในกลุ่มอาณาจักรเบียร์ช้างได้ เช่น ช่องทางโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่ตนผลิตไปสู่ผู้บริโภค หากศึกษากรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล มีการกระจายเม็ดเงินโฆษณาในเครือไปยัง TNN24 และ True4U โดยในปี 2559 ทั้งสองช่องมีสัดส่วนการโฆษณาจากเครือ ซี.พี. 57% และ 36% ตามลำดับ (ช่อง TNN24 รวม 269 ล้านบาท จาก 475 ล้านบาท และ True4U รวม 330 ล้านบาท จาก 912 ล้านบาท)

ทำให้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ว่า กลุ่มธุรกิจในเครือสิริวัฒนภักดีที่มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ อาจกระจายเม็ดเงินโฆษณาไปยังช่องอมรินทร์ทีวีเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารสินค้าในเครือของตนไปยัง

ผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีการโฆษณาสินค้าในเครือผ่านช่องโทรทัศน์มหาศาล โดยพบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 510 ล้านบาทในปี 2558 และประมาณ 532 ล้านบาทในปี 2559

จากปรากฏการณ์ข้างต้น ถามว่าใครจะเป็นรายต่อไป