ธุรกิจเร่งฟื้นกำลังซื้อ FMCG ระดมสินค้าใหม่เต็มเชลฟ์ปลุกทุกตลาด

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค 4.4 แสนล้านบาทซึมยาวไม่หยุด ผู้ประกอบการไม่ยอมจำนนเร่งระดมคาราวานสินค้าใหม่-นวัตกรรมใหม่ขึ้นเชลฟ์ หวังฟื้นตลาดปลุกสีสันผลักดันยอดขาย “ยูนิลีเวอร์” นำทัพบุกยึดแชมป์ สินค้าแห่ปรับตัวเน้นไซซ์เล็ก-ราคาคุ้มดันตลาด ชี้กว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศมีเพียง 17% ที่ทำยอดขายได้

เติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี สำหรับตลาดรวมสินค้าอุปโภคบริโภค โดยข้อมูลจากบริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ระบุว่า ปีที่ผ่านมา ตลาดรวมสินค้าอุปโภคบริโภค ติดลบ 0.4% หรือมีมูลค่าตลาดรวม 4.42 แสนล้านบาท และหากย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อน ตลาดนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2559 โตเพียง 1.7% ขณะที่ปี 2558 โต 2.2% และปี 2557 โต 2.6%

ปัจจัยหลัก ๆ มาจากกำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และแม้จะเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ผู้บริโภคก็ยังยอมตัดลดค่าใช้จ่ายลง ขณะที่ผู้ผลิต จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ต้องดิ้น เฟ้นโมเดลใหม่ ๆ มาปลุกยอดขาย หนึ่งในนั้นคือ การออกสินค้า ออกนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง

ยูนิลีเวอร์บุกรอบทิศ

นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ กล่าวว่า แนวทางสร้างการเติบโตให้แก่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค คือ การนำเสนอสินค้าใหม่ รวมถึงการสร้างแคมเปญทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้ตลาดใหญ่ขึ้น มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 นี้ ยูนิลีเวอร์เตรียมออกสินค้าใหม่ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สินค้าส่วนบุคคล ความงาม รวม 5 แบรนด์ ได้แก่ ซันซิล โดฟ พอนด์ส ครีมอาบน้ำลักส์ แชมพูเคลียร์ ตามด้วยสินค้าในครัวเรือน 2 แบรนด์ ได้แก่ ผงซักฟอกคอมฟอร์ท ซันไลต์สูตรใหม่ ต่อด้วยโจ๊กคนอร์ เปิดตัวรสชาติเนเชอรัล สุดท้ายกลุ่มไอศกรีม กับไอศกรีมเอเชียนดีไลท์ 6 รสชาติใหม่สไตล์ไทย ๆ ทั้งทุเรียน ข้าวโพด เผือก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนจะออกสินค้าใหม่ ๆ ต่อเนื่องในทุก ๆ ไตรมาส เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัท

แพ็กเกจจิ้งใหม่-ไซซ์ใหม่

สอดรับกับนางสาวอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะเติบโตลดลง แต่ก็มีบางแบรนด์ที่เติบโตขึ้น ด้วยการปรับกลยุทธ์ใหม่ เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค เช่น ทีพอท ออกแพ็กเกจจิ้งใหม่ นมข้นหลอดบีบ ไมโลที่ออกไมโลกระป๋อง เป็นต้น ตลอดจนการทำแพ็กเกจจิ้งไซซ์เล็กมุ่งขายในราคาถูกลง ก็ช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้ดี

ไตรมาสแรกโตลดลง

นายยงยุทธ องค์วัฒนะพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการขาย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาสแรกที่ผ่านมาเติบโตลดลง 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอาจจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง อีกทั้งช่องทางขายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งช่องทางจัดจำหน่าย ซัพพลายเออร์ หันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การขายสินค้าผ่านการจัดรูปแบบร้าน การเลือกสินค้า และจัดโปรโมชั่นให้สอดรับกับช่องทางขาย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลกำไรอีกแรง พร้อมทั้งพยายามจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า ในส่วนช่องทางจัดจำหน่าย ปัจจุบันมีมากกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แต่มีเพียง 17% ของจำนวนนี้ที่สามารถสร้างยอดขายได้ เพราะปัจจัยต่าง ๆ เช่น โลเกชั่นและการปรับตัวตามเทคโนโลยี เช่นเดียวกับจำนวนสินค้าใหม่ ที่แบรนด์ต่าง ๆ ขนมานำเสนอผู้บริโภคต่อเนื่อง โดยมีจำนวนมากกว่า 20,000 รายการต่อปี แต่มีเพียง 17% เท่านั้นที่สามารถสร้างยอดขายได้

แบรนด์สินค้าแห่ปรับตัว

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองก็ต้องเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ ๆ ด้วย เพราะกลยุทธ์การตลาดแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้มีความซับซ้อนขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การเพิ่มพื้นที่สินค้าบนชั้นวางสินค้า จะได้ผลดีกับแบรนด์ที่ยังไม่ติดตลาด การเพิ่มไซซ์บรรจุภัณฑ์ได้รับความนิยมมากกว่าการเพิ่มรายการสินค้า และสินค้าไซซ์ใหญ่ หรือรีฟิลกลับขายดีในร้านสะดวกซื้อ จากเดิมที่ขายดีในไฮเปอร์มาร์เก็ต เพราะผู้บริโภคในช่องทางร้านสะดวกซื้อให้ความสนใจด้านราคาน้อย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่การคัดเลือกช่องทางขายที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับสินค้าแต่ละชนิดรวมถึงตั้งราคาและออกแบบโปรโมชั่นรวมถึงแพ็กเกจจิ้งให้สัมพันธ์กับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่องทางขาย

ล่าสุดนีลเส็นได้ตั้ง “ฝ่ายพัฒนาการขาย” เพื่อสร้างโซลูชั่นค้าปลีกสำหรับซัพพลายเออร์ และเซลส์โดยเฉพาะขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยีวีอาร์หรือการสร้างโลกเสมือนจริงมาใช้ในไทยเป็นแห่งที่ 4 ของโลก ชูจุดขายด้านค่าใช้จ่ายและเวลาที่ลดลงและความยืดหยุ่นในการเก็บข้อมูล โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ตั้งแต่โมเดิร์นเทรดไปจนถึงร้านโชห่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจช่องทางจัดจำหน่าย ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ พบว่าหลายแบรนด์นำสินค้าใหม่เข้ามาวางตลาดจำนวนมาก เช่น มาม่า ออกรสกะเพราแซบแห้ง แลคตาซอยออกนมถั่วเหลืองรสจืด เป็นต้น


เมื่อสินค้าใหม่ลงตลาด ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่คุ้นชินก็อาจจะไม่ซื้อ ไม่เปิดโอกาสทดลอง แต่เมื่อตลาดไม่โตก็จำเป็นต้องลอง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด รักษาการเติบโตของธุรกิจท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น ซึ่งผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภครู้ดีว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง ดีกว่าปล่อยให้ตลาดเติบโตลดลงเรื่อย ๆ