อย. “ติดหล่ม” จำเลยสังคม “เราจะเข้มทุกพื้นที่ สร้างเครือข่ายประชาชน”

หลังเกิดกรณี “เมจิกสกิน” คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตกเป็นประเด็นทางสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับถูกตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุม ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร”ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายแพทย์วันชัย สัตยวุฒิพงศ์” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ถึงมาตรการตรวจสอบ ควบคุมและแนวทางการป้องกันในอนาคต

Q : จากกรณี “เมจิก สกิน” ที่เกิดขึ้น ทำให้ อย.ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงมาตรการควบคุม ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดถึงแนวทางการทำงานของ อย. ซึ่ง อย.ก็พยายามชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา อย.ร่วมกับตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางอยู่ตลอดเวลาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่สินค้าเหล่านี้เกิดขึ้นจำนวนมาก การทำงานและบุคลากรที่มีก็อาจจะไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ใหม่ขอขึ้นทะเบียนกับ อย.เกือบ 200,000 รายการต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว ทำให้บุคลากรของ อย.ทำงานไม่ทันต่อจำนวนสินค้าที่เพิ่มขึ้น

Q : บุคลากรน้อย ประกอบกับขั้นตอนการทำงานที่ล่าช้า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลโฆษณา การขึ้นทะเบียนอาหารและยาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ตรวจสอบว่าจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่จำนวนเท่าไร พร้อม ๆ กับเร่งสร้างเครือข่ายภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลโฆษณาเกินความจริงจากทุก ๆ ช่องทางสื่อ โดยที่ผ่านมาก็มีโครงการนักสืบไซเบอร์สำหรับตรวจสอบโฆษณาเกินความจริงในสื่อออนไลน์ด้วย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนโฆษณาและสินค้าที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมา กระบวนการทำงานของ อย.มีความล่าช้า ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งว่ามีการโฆษณาเกินความเป็นจริงก็ต้องมีการประชุมบอร์ดบริหารถึง 2 บอร์ดก่อนจะออกดำเนินการได้ และกว่าที่กระบวนการจะเริ่มได้ บางครั้งผู้กระทำความผิดก็ปิดบริษัทหนีไปแล้ว ซึ่ง อย.จะทำงานเพียงหน่วยงานเดียวก็คงไม่ทัน ทำให้แนวทางจากนี้ไปจึงเน้นการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

Q : การโฆษณาบนออนไลน์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งการโพสต์การแชร์เรื่องราว การขายสินค้าโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะมีแนวทางแก้ไข ป้องกันอย่างไร

ต้องยอมรับว่าวันนี้ สื่อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นหลักคือจุดมุ่งหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็พยายามโฆษณาให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางของตัวเองสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เพียงเพราะต้องการขายสินค้า พร้อมกับโฆษณาในสื่อที่ อย.ตามจับได้ยากคือสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศ ทำให้การทำงานของ อย.ยากขึ้นไปอีก ซึ่ง อย.ก็ต้องค่อย ๆ เร่งดำเนินการไป

Q : หลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงมาตรการเกี่ยวกับการโฆษณาอาหารและยาเกินจริง เป็นอย่างไรบ้าง

แนวทางหลัก ๆ ที่จะดำเนินการทันที คือ อย.จะส่งพนักงาน 6 คนมามอนิเตอร์โฆษณาเกินความจริงที่ กสทช. ในทุก ๆ ช่องทาง ประกอบด้วย ทีวีภาคพื้นดิน 27 ช่อง เคเบิล-ทีวีดาวเทียมกว่า 400 ช่อง วิทยุชุมชนประมาณ 6,000 สถานีทั่วประเทศ รวมถึงสื่อออนไลน์ด้วย และเมื่อมอนิเตอร์พบการกระทำความผิดก็จะแจ้งให้ กสทช.ระงับการออกอากาศโฆษณานั้นทันที

Q : แนวทางนี้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างไร

ความร่วมมือนี้จะเริ่มทดลองใช้เบื้องต้นเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 90 วัน หลังจากนั้นจะพิจารณา ปรับปรุงแนวทางนี้อีกครั้ง โดยแนวทางนี้จะทำให้การระงับโฆษณาเร็วขึ้น หรือใช้ระยะเวลาเพียง 1-2 วัน ซึ่งรวดเร็วกว่าแนวทางเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลา 45-60 วันถึงจะสั่งระงับโฆษณาเกินจริงได้


“การตรวจสอบโฆษณาถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถือเป็นต้นทาง ถ้ากระบวนการสั่งระงับโฆษณาเกิดขึ้นเร็ว กระชับฉับไวก็เป็นเสมือนการคุ้มครองผู้บริโภคได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน”