ทีวีเดือด ! รับมหกรรมกีฬา แข่ง AI-จอใหญ่ ชิง 2 หมื่นล้าน

TV

ปี 2567 นี้ตลาดทีวีมีแนวโน้มคึกคักเป็นพิเศษ สำหรับทั้งฝั่งผู้ที่มองหาทีวีเครื่องใหม่ ไปจนถึงร้านค้า และแบรนด์ทีวี จนมีลุ้นที่ตลาดทีวีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทจะกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกหลังหดตัวต่อเนื่อง 4 ปี

เนื่องจากบรรดาแบรนด์ทีวีจะพยายามชิงดีมานด์ในช่วงที่ตลาดมีปัจจัยบวกสำคัญอย่างมหกรรมกีฬา ทั้งฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือการแข่งขันฟุตบอลยูโร และมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่าง ปารีสโอลิมปิก 2024 ที่จะจัดต่อเนื่องกันในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคและร้านอาหาร ผับ บาร์ อัพเกรดทีวีเครื่องใหม่

ทำให้ช่วงกลางปีตลาดทีวีจะคึกคักไปด้วยสินค้าใหม่ พร้อมนวัตกรรม และฟังก์ชั่นล้ำ ๆ โดยเฉพาะ AI ที่จะเข้ามาสร้างความหวือหวาให้กับทีวี ทั้งด้านภาพและเสียง รวมถึงฟีเจอร์อำนวยความสะดวกด้านการค้นหาคอนเทนต์บนบริการสตรีมมิ่งและสมาร์ทโฮม ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นตัวชูโรงกระตุ้นการตัดสินใจแทนการลดราคา

“ชวพจน์ เทียนทอง” ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจภาพและเสียง ประธานบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวในงานเปิดตัว Samsung AI TV รุ่นใหม่ว่า ปี 2567 นี้ อาจเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ตลาดทีวีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากความพยายามของหลายแบรนด์ รวมถึงซัมซุงที่หันชิงผู้บริโภคด้วยความคุ้มค่าจากนวัตกรรมด้านภาพและเสียง รวมถึงการผ่อนชำระ แทนการแข่งขันราคา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าตลาดทีวีลดลงต่อเนื่อง แม้ดีมานด์จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

สะท้อนจากตัวเลขจำนวนเครื่องในตลาด โดยปี 2566 ในตลาดทีวีจำนวนเครื่องเติบโตถึง 6% เป็น 2.5 แสนเครื่อง สวนทางกับมูลค่า เช่นเดียวกับช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่จำนวนเครื่องเติบโตขึ้นเช่นกัน

แข่งชู AI พร้อมสารพัดฟีเจอร์

การแข่งขันในตลาดทีวีปี 2567 นี้ ผู้บริโภคอาจได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ล้ำ ๆ โดยเฉพาะที่อาศัยการทำงานของ AI เข้ามามีบทบาทในฐานะแม็กเนตมากขึ้น และในหลากหลายรุ่นทีวีมากขึ้น ต่างจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ปัจจัยแข่งขันจะเน้นเรื่องขนาดหน้าจอ ดีไซน์ คุณภาพภาพ-เสียง ฯลฯ รวมถึงราคาเป็นหลัก ส่วนฟีเจอร์ AI จะอยู่ในรุ่นระดับท็อป-รองท็อปราคาหลายหมื่น-แสนบาทเท่านั้น

ADVERTISMENT

ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI และการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ โดยผู้บริหารซัมซุง อธิบายว่า แม้ฟีเจอร์ AI จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการทีวี แต่ปีนี้ AI จะมีบทบาทมากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการผลิตชิปรุ่นใหม่ ช่วยให้ฟีเจอร์ AI ทำงานได้เร็วและให้ผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เช่น การอัพสเกลภาพหรือการเพิ่มความละเอียดของคอนเทนต์ FHD หรือ 4K ขึ้นเป็น 8K

ตัวอย่างเช่น Neo QLED 8K รุ่นปี 2024 ทีวีเรือธงของปีนี้มาพร้อมชิปประมวลผลรุ่นใหม่ NQ8 AI Gen3 ซึ่งมีหน่วยประมวลผลมากกว่ารุ่นก่อนถึง 8 เท่า และฟีเจอร์ AI ต่าง ๆ เช่น 8K AI Upscaling Pro ที่ช่วยอัพเกรดความละเอียดคอนเทนต์ให้ใกล้เคียงกับระดับ 8K, AI Motion Enhancer Pro เพิ่มความคมชัดให้กับภาพที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วอย่าง กีฬา, Adaptive Sound Pro ช่วยปรับปรุงเสียงให้เข้ากับคอนเทนต์และเสียงภายในห้อง, AI Auto Game Mode ช่วยปรับภาพและเสียงให้เหมาะสมเพื่อการเล่นเกม, AI Energy Mode ช่วยให้ประหยัดพลังงานได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของภาพ เป็นต้น

ADVERTISMENT

โดย Samsung AI TV รุ่นปี 2567 จะมีฟีเจอร์ AI ในรุ่น Neo QLED 8K, Neo QLED 4K, Samsung OLED, Micro LED, Lifestyle TV มีราคาเริ่มต้น 3 หมื่นบาทเป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน โซนี่ ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น มุ่งด้านฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกในการรับชมคอนเทนต์บนบริการสตรีมมิ่ง เช่น การค้นหาคอนเทนต์แบบข้ามแพลตฟอร์ม การปรับภาพให้เข้ากับคอนเทนต์จากบริการสตรีมมิ่งโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า โซนี่เปิดตัวทีวี Bravia ของรุ่นปี 2567 จำนวน 4 รุ่น สำหรับตลาดประเทศตะวันตก โดยมาพร้อมกับสารพัดฟีเจอร์สำหรับสนับสนุนการชมคอนเทนต์ผ่านสตรีมมิ่ง อย่าง การปรับภาพให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังสตรีมโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ หรือแม้แต่กีฬา ซึ่งจะเริ่มใช้งานกับคอนเทนต์จาก Amazon Prime Video เป็นแพลตฟอร์มแรก เช่น ฉากภาพยนตร์ในซีรีส์เรื่อง The Boys จะมีสีเหลืองเพื่อแยกจากฉากปกติได้ชัดเจน

ด้าน Hisense แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีนและสปอนเซอร์หลักของฟุตบอลยูโร 2024 เปิดตัวสินค้าใหม่รับ UEFA EURO 2024 ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับใช้ฟีเจอร์ AI และชิปประมวลผลรุ่นใหม่มาช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ดีขึ้น เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของสินค้าทีวี ร่วมกับทีวี QLED ซีรีส์ Q7 ที่มีจอใหญ่สุดขนาด 100 นิ้ว โดยคาดว่าจะเริ่มวางขายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้

สอดคล้องกับทิศทางของ TCL ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีนี้ TCL มีไฮไลต์เป็นทีวีจอยักษ์ขนาดเกิน 100 นิ้ว ด้วยรุ่น X955 ขนาด 115 นิ้ว พร้อมคว้าตำแหน่งเป็นทีวีหน้าจอแบบ QD-Mini LED TV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปครอง

สำหรับ แอลจี ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเกาหลีอีกรายนั้น ยังไม่เปิดตัวทีวีรุ่นปี 2567 อย่างเป็นทางการ แต่ “อำนาจ สิงห์จันทร์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด แย้มว่า สินค้ารุ่นใหม่นั้นนอกจากความล้ำหน้าของนวัตกรรม แล้วจะมีฟีเจอร์และดีไซน์ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ รวมถึงมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึก และความคุ้มค่าจากการใช้งานสินค้านั้น ๆ มากขึ้น

ขยายเพดานสินเชื่อ-ผ่อนยาว

นอกจากฟีเจอร์แล้ว การผ่อนชำระเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแข่งขันสำคัญของวงการทีวี โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังคงท้าทาย “ชวพจน์ เทียนทอง” กล่าวว่า ปีนี้จะใช้บริการสินเชื่อผ่อนสินค้า Samsung Finance+ มาเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญสำหรับชิงความได้เปรียบในสมรภูมิทีวี ด้วยการขยายเพดานวงเงินสินเชื่อเพิ่มจาก 1.5 หมื่นบาท เป็น 4.5 หมื่นบาท พร้อมกับขยายระยะเวลาผ่อนจาก 11 เดือน เป็น 24 เดือน ในอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.7%

เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งการทำโปรโมชั่นลดราคาจำหน่าย ช่วยให้สามารถพยุงราคาเฉลี่ยของสินค้าเอาไว้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มทีวีแบบ UHD ขนาด 55-65 นิ้ว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโรและกีฬาโอลิมปิกจะปลุกกระแสการซื้อหาทีวีเครื่องใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ โดยผู้บริหารซัมซุงคาดการณ์ว่ามหกรรมกีฬาทั้ง 2 รายการจะสามารถกระตุ้นยอดขายทีวีในด้านจำนวนเครื่องได้ประมาณ 20% แต่ในด้านมูลค่านั้น สิ้นปี 2567 มูลค่าตลาดทีวีอาจเติบโตในระดับเลขหนึ่งหลักต้น ๆ เนื่องจากการแข่งขันราคายังคงกดดันมูลค่าตลาด สำหรับซัมซุงตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10% และชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มได้อีกประมาณ 1-2%