อีคอมเมิร์ซแบกขาดทุน เซ็นทรัล JD ตั้ง 9 บริษัทลุย

ยักษ์อีคอมเมิร์ซสู้กันถึงตาย เฉือนเนื้อเผาเงินเพื่ออนาคต ชี้เกมของยักษ์ใหญ่หวังสร้างบิ๊กดาต้าต่อยอดธุรกิจ “ลาซาด้า” ลูกรักอาลีบาบา แบกขาดทุนปีละกว่า 2 พันล้านบาท “อีเลเว่นสตรีท” เพิ่มทุนวิ่งหาพันธมิตร “เซ็นทรัล เจดี” ฟอร์มใหญ่ซุ่มเปิด 9 บริษัทต่อยอดครบวงจร เตรียมเปิดบริการอีมันนี่ชำระสินค้า พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะที่ยักษ์อีคอมเมิร์ซข้ามชาติพาเหรดเข้ามาบุกตลาดเมืองไทยอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับกระแสข่าวว่าผู้ประกอบการบางรายที่อาจต้องปิดตัวเพราะการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ไม่สามารถแบกขาดทุนได้ในระยะยาว จากการสำรวจผลประกอบการของยักษ์อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยพบว่า ส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน เริ่มจากบริษัท ลาซาด้า จำกัด ซึ่งถือเป็นรายใหญ่สุด ซึ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2560 ยังอยู่ในภาวะขาดทุน แม้ว่าในแง่ของรายได้จะเพิ่มขึ้นมากแต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ลาซาด้าขาดทุนปีละ 2 พันล้าน

สำหรับบริษัทลาซาด้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2560 มีรายได้รวม 1,757 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 568 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 มีรายได้ 4,266 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,115 ล้านบาท

ส่วนบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาตั้งบริษัทปี 2558 ปีแรกมีผลประกอบการขาดทุน 211 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุน 528 ล้านบาท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ขณะที่อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยอย่างบริษัท ตลาดดอทคอม จำกัดในช่วง 5 ปีย้อนหลังมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และเพิ่งมีกำไรสุทธิ 101.7 ล้านบาทในปี 2559

“เซ็นทรัล เจดี” ซุ่มเปิด 9 บริษัท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน “เจดีดอทคอม” ที่ได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด เมื่อช่วงมกราคม 2561 ก็ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินงานด้านโลจิสติกส์และขนส่งสินค้า พัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์ 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เซ็นทรัล เจดี โลจิสติกส์, บริษัท เซ็นทรัล เจดี โลจิสติกส์ โฮลดิ้ง 1, บริษัท เซ็นทรัล เจดี โลจิสติกส์ โฮลดิ้ง 2, บริษัท เซ็นทรัล เจดี โลจิสติกส์ โฮลดิ้ง 3 และบริษัท เซ็นทรัล เจดี โลจิสติกส์ โฮลดิ้ง 4

และล่าสุดเมื่อ 23 เมษายน 2561 ก็ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด เพื่อประกอบกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการ รวมทั้งจัดตั้งบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค โฮลดิ้ง และบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค จำกัดเพื่อประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจ

เกมเผาเงินสร้างฐานลูกค้า

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจอีมาร์เก็ตเพลซกำลังแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการแข่งขันที่วัดกันที่ “เงินทุน” เป็นหลัก ใครมีเงินมากกว่า สายป่านยาวกว่า ทนขาดทุนได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะในที่สุด เพราะปัจจุบันผู้ซื้อเสพติดโปรโมชั่น แต่ละอีมาร์เก็ตเพลสจึงจำเป็นต้องอัดฉีดโปรโมชั่นให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ต้องมีส่วนลด ต้องมีบริการส่งฟรี เพื่อให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อซ้ำซื้อต่อเนื่อง ซึ่งจะทำได้ต้องใช้เงินทุนมาซับซิไดซ์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยิ่งขายยิ่งขาดทุน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยหลาย ๆ ประเทศเจ้าของอีมาร์เก็ตเพลซก็ใช้กลยุทธ์นี้ คือไม่ใช่เกมระยะสั้น และไม่ได้มองที่ “กำไร” ณ วันนี้ แต่มองที่เป้าหมายการเติบโตและขยายธุรกิจให้เร็วที่สุด สร้างฐานมาร์เก็ตแชร์ให้เร็วที่สุด พร้อมที่จะเผาเงินเพื่อให้ตัวเองไปอยู่แถวหน้าของธุรกิจให้เร็วที่สุด

“ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเริ่มถูกกระชาก ตั้งแต่ลาซาด้าเข้ามาเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้นอาลีบาบายังไม่ได้ซื้อลาซาด้า แต่ลาซาด้าก็ลงทุนเป็นพันล้านบาทในปีเดียว ขณะที่ราคูเท็น ซึ่งช่วงนั้นลงทุนในตลาดดอตคอมอยู่ 6 ปี ใช้เงินไปแค่ 400 ล้านบาท ยิ่งพออาลีบาบาซื้อลาซาด้าและทุ่มเงินลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทุนใหญ่ในไทยก็หลบหมด ไม่มีใครสู้ เพราะนักธุรกิจไทยไม่ได้มีแนวคิดที่จะยอมเผาเงินทิ้งไปเรื่อย ๆ ได้โดยที่ไม่ชัดเจนว่าจะมีกำไรเมื่อไร”

ครบวงจรต่อยอด Big Data

นายภาวุธกล่าวว่า อีมาร์เก็ตเพลซยักษ์ใหญ่อย่าง อาลีบาบา, เจดีดอทคอมและเทนเซนต์ที่นอกจากจะมีทุนหนาแล้ว อีกสิ่งที่จะเห็นคู่กันไปเสมอคือมีธุรกิจครบวงจร ทั้งอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ อีไฟแนนซ์ สร้างระบบนิเวศของตัวเองขึ้นมาเสร็จสรรพ เป็นการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากฐานลูกค้า

“แต่ที่สำคัญสุดในยุคนี้คือ การมีฐานลูกค้าที่มากยิ่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เอามาใช้ในธุรกิจได้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งจะต่อยอดได้อีกมาก อย่างธนาคารที่ขยับมาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วยก็เพราะต้องการ big data เหล่านี้ เพื่อนำเสนอบริการที่ดีอื่น ๆ ให้กลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น”

ช้อปปี้ลุ้นเวลาคืนทุน

น.ส.อากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจากนี้จะเห็นการเติบโตมากขึ้น ยิ่งมีกลุ่มทุนเข้ามามากก็จะยิ่งดีกับอุตสาหกรรม ทุกรายจะเข้ามาพัฒนาตลาดสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์

“ช้อปปี้ลงทุนแล้วใน 7 ประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดสำคัญ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อและนโยบายที่เปิดกว้าง ช้อปปี้จึงได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ รวมถึงอัพเดตเทรนด์และโปรโมชั่นใหม่ ๆ ให้ลูกค้าอยู่เสมอ ส่วนการลงทุนในไทยจะถึงจุดที่สามารถคืนทุนได้เมื่อใด ยังต้องประเมิน เพราะต้องเป็นเวลาที่ตลาดมีความพร้อมจริง ๆ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ความพร้อมของอีเพย์เมนต์ และโลจิสติกส์ อย่างในไต้หวันที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแข็งแกร่งมาก เริ่มหารายได้จากการซื้อโฆษณาของผู้ค้าได้ ก็มาจากการที่ชาวไต้หวันกว่า 50% เข้าถึงอีคอมเมิร์ซแล้ว”

แหล่งข่าววงการเอเยนซี่ โฆษณา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลซในไทยยังใช้สื่อโฆษณาต่อเนื่อง ทั้งในการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ผ่านสื่อหลักและสื่อออนไลน์ แต่ในส่วนของการออกแคมเปญย่อยเพื่อกระตุ้นการขาย ที่ยังมีการใช้งบฯอย่างต่อเนื่องคือ ลาซาด้าและช้อปปี้ โดยเฉพาะช้อปปี้ที่ใช้สื่อโปรโมตแคมเปญและโปรโมชั่นต่าง ๆ แทบทุกสัปดาห์ และจะส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าเมื่อมีแบรนด์พันธมิตรรายใหม่เข้ามาเปิดร้านบนแพลตฟอร์มแต่ในส่วนของลาซาด้าจะส่งข้อมูลตรงไปที่ลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่สร้างขึ้น โดยเฉพาะ LINE@ ทุกวัน มากกว่า ยกเว้นจะเป็นแคมเปญใหญ่ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อย่างล่าสุดคือฉลองครบรอบ 6 ปีเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 11 Street ในช่วงปีนี้ถือว่ามีความเคลื่อนไหวทางการตลาดค่อนข้างน้อย

11 Street เพิ่มทุนรับพันธมิตร

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการอีคอมเมิร์ซหลายรายระบุว่า บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท (ประเทศไทย) จำกัด อีคอมเมิร์ซจากเกาหลีใต้ที่เพิ่งให้บริการในไทยครบ 1 ปี กำลังเร่งหาแหล่งทุนใหม่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้บริหารระดับสูงของ 11 Street ให้สัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้ว่า ยินดีเปิดกว้างรับพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจส่วนกระแสข่าวว่า บริษัทได้แจ้งกับพนักงานว่าจะปิดตัวนั้น ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ 11 Street ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง บริษัทยังให้บริการตามปกติ แต่เนื่องจากผู้บริหารอยู่ต่างประเทศจึงยังไม่พร้อมให้ข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดเมื่อ 16 มีนาคม 2561 บริษัท 11 Street ได้มีการแจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 160 ล้านบาทเป็น 1,493.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนครั้งที่ 5 นับตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทเมื่อ 5 เมษายน 2559 สะท้อนถึงการที่บริษัทต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ในการเปิดตลาด

สำหรับ 11 Street เป็นบริษัทในเครือของ SK Telecom ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่จากประเทศเกาหลีใต้ เปิดให้บริการอย่างทางการในไทยเมื่อ ก.พ. 2560 โดยก่อนนี้เปิดให้บริการในเกาหลีใต้ ตุรกี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่เมื่อ ส.ค. 2560 ได้ขายกิจการในอินโดนีเซียให้กับ Salim Group กลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของอินโดนีเซีย และเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมาได้ 11 Street มาเลเซีย ก็บริษัท PUC Berhad เข้ามาเป็นพันธมิตรถือหุ้น 24%

ทั่วโลกซื้อ-ขายกิจการคึกคัก


ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลกในเดือนนี้มีการเคลื่อนไหวด้วยการเข้าซื้อกิจการของยักษ์ใหญ่ ทั้งการเข้าซื้อ Daraz อีคอมเมิร์ซในปากีสถานของกลุ่มอาลีบาบา จากกลุ่ม Rocket Internet (เจ้าของลาซาด้าเดิม) โดยไม่มีการเปิดเผยมูลค่าดีล และล่าสุดวอลมาร์ต ยักษ์ค้าปลีกของอเมริกา ได้ประกาศซื้อหุ้น 77% ใน Flipkart อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของอินเดีย ด้วยมูลค่าราว 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ