ซีอาร์จี เตรียมส่งเคเอฟซีโมเดลใหม่ปักธงในสถานีรถไฟฟ้าช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ พร้อมปูพรมสาขาบุกทำเลเมืองรอง หวังชิงความได้เปรียบในตลาดฟาสต์ฟู้ด 4.5 หมื่นล้านบาท
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine หนึ่งในผู้ถือสิทธิแฟรนไชส์ซีเคเอฟซี กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดร้าน เคเอฟซี โมเดลใหม่ในทำเลระบบขนส่งมวลชน Transporting Hub อาทิ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน ภายในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2567 นี้
สำหรับโมเดลใหม่นี้จะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ Quick & Easy โฟกัสการซื้อกลับบ้าน-ออฟฟิศเท่านั้น โดยจะไม่มีที่นั่งทาน และใช้ Kiosk หรือเครื่องรับออร์แบบบริการตนเองแทนการสั่งกับพนักงานที่เคาน์เตอร์ ส่วนเมนูอาหารจะมีให้เลือกประมาณ 80-90% ของสาขาปกติ
ช่วยลดความซับซ้อนและเพิ่มความรวดเร็วของการบริการ รวมถึงทำให้ใช้พื้นที่หน้าร้านรวมครัวเพียง 40-50 ตร.ม. หรือประมาณ 1 ใน 5 ของสาขาปกติ และใช้งบฯลงทุนต่ำลงประมาณ 20%
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานนีขนส่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง จากการมีผู้บริโภคจำนวนมากมาใช้บริการในแต่ละวัน ทำให้มีโอกาสขายสูงตามไปด้วย ส่วนการใช้ Kiosk รับออร์เดอร์เพียงอย่างเดียว จะช่วยลดเวลารอรับบริการ โดยจากสถิติในสาขาปกติ การรับออร์เดอร์ด้วย Kiosk จะลดเวลารอลงมาอยู่ในระดับ 1 นาทีหากไม่มีคิว หรือ 5 นาทีหากมีคิวก่อนหน้า
ลุยขยายสาขาลงลึกระดับอำเภอ
นอกจากสาขาในระบบขนส่งอย่างรถไฟฟ้าแล้ว ในครึ่งหลังของปี 2567 นี้ ซีอาร์จี ยังโฟกัสการขยายสาขาไปยึดหัวหาดในอำเภอรองของแต่ละจังหวัดอีกด้วย
นายปิยะพงศ์กล่าวว่า ปีนี้เตรียมเปิดขยายสาขาเคเอฟซีเพิ่มอีก 23 สาขา โดย 50% จะอยู่ในเมือง-อำเภอรองที่มีประชากรประมาณ 4 หมื่นคนขึ้นไป ต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งเปิดสาขาในอำเภอต่าง ๆ เช่น บุณฑริก ในจังหวัดอุบลราชธานี และได้รับผลตอบรับดี จนปัจจุบันมีสาขาในทำเลเหล่านี้ 50 สาขา
นอกจากนี้ จะเดินหน้ารีโนเวตสาขาในจุดต่าง ๆ ให้รองรับการนั่งทานที่ร้านได้มากขึ้น เช่น เพิ่มจำนวนที่นั่งเพื่อรับการกลับมาอีกครั้งของพฤติกรรมนั่งทานอาหารในร้าน พร้อมกับอัพเกรดระบบดิจิทัล เช่น เปลี่ยนป้ายเมนูเป็นจอดิจิทัล ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดโปรโมชั่นที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน และแต่ละวันของสัปดาห์
โหมโปรแรงชดเชยกำลังซื้อ
ขณะเดียวกัน นายปิยะพงศ์เผยว่า นอกจากการขยายสาขาแล้ว บริษัทยังเตรียมเพิ่มความแรงของโปรโมชั่นในช่วงครึ่งปีหลังให้มากขึ้น เพื่อชดเชยสภาพกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว ด้วยโปรโมชั่นที่เน้นความคุ้มค่า และกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาทานบ่อยขึ้น อย่างราคาพิเศษในบางวันของสัปดาห์ เช่น อังคาร พฤหัสฯ รวมถึงของแถมต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์เน้นเพิ่มจำนวนการขายต่อวันมากกว่ามูลค่าการใช้จ่ายต่อใบเสร็จ เนื่องจากตอบโจทย์กำลังซื้อของผู้บริโภคได้ดีกว่า หลังปี 2566 ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จทรงตัวที่ 180-200 บาท แต่จำนวนการซื้อเติบโต 6%
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 ร้านเคเอฟซีภายใต้การบริหารของซีอาร์จี จะสามารถผลักดันยอดขายร้านเดิมให้เติบโตได้ประมาณ 8% จากตัวเลข 7,050 ล้านบาทเมื่อปี 2566