“กูลิโกะ” เผย 4 ยุทธศาสตร์สปีดการเติบโต 20% ต่อปี ย้ำเจ้าตลาดขนม ลุยปั้นสินค้าเสาหลักที่ 2-3 สร้างรายได้เทียบป๊อกกี้ ก่อนขนสินค้าใหม่รุกลูกค้าองค์กร-ตลาดสุขภาพเร็ว ๆ นี้ ด้านป๊อกกี้จัดทัพโฟกัสเจาะ 4 เซ็กเมนต์ตั้งแต่พรีเมี่ยมถึงนักท่องเที่ยว พร้อมลุยอัพเกรดองค์กรมุ่งเป็น Employer of Choice เพิ่มประสิทธิภาพ-ดึงดูดพนักงานใหม่
นายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว อาทิ ป๊อกกี้, เพรทซ์, แอลฟี่, โคลลอน ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 3 ปีจากนี้บริษัทจะเร่งสปีดการเติบโตของรายได้ให้อยู่ในระดับ 15-20% ต่อปี ตามแนวทางของบริษัทแม่ที่โฟกัสสร้างการเติบโตจากธุรกิจนอกญี่ปุ่นมากขึ้น หลังปัจจุบันรายได้นอกญี่ปุ่นยังมีสัดส่วนเพียง 20% ของรายได้รวม ด้วยการโฟกัส 3 ภูมิภาคหลัก คือ อาเซียน-แปซิฟิก, จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นฐานผลักดันการเติบโต
สำหรับตลาดในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญในฐานะตลาดใหญ่สุดของกูลิโกะในภูมิภาคอาเซียน-แปซิฟิก เนื่องจากมีศักยภาพสามารถเติบโตได้แม้จะทำตลาดมานานกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม สะท้อนจากแนวโน้มของทั้งตลาดบิสกิตซึ่งเป็นตลาดของป๊อกกี้ที่ปี 2566 เติบโต 6.5% จนมีมูลค่า 1.57 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดไอศกรีม เติบโต 4.9% เป็น 1.23 หมื่นล้านบาท และปี 2567 มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอีกจากสภาพอากาศร้อนจัด เช่นเดียวกับนมอัลมอนด์ ที่เติบโต 41% เป็น 1.4 พันล้านบาท และปีนี้มีแนวโน้มเติบโตอีก 40% จากกระแสสุขภาพซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างตั้งแต่เด็กมัธยมไปจนถึงวัย 40 ปี
โอกาสเหล่านี้ทำให้บริษัทพัฒนาแผนสปีดการเติบโตของรายได้ ด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ การผลักดันแบรนด์อื่นในพอร์ตโฟลิโอขึ้นมาเป็นเสาหลักต้นที่ 2 และ 3 ของบริษัทเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตควบคู่กับป๊อกกี้ที่เป็นเสาหลักเดิม การนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้าองค์กร พร้อมกับจัดเซ็กเมนต์ของสินค้าแบรนด์ป๊อกกี้เพื่อโฟกัส 4 กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรีเมี่ยม, สุขภาพ ไปจนถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เพิ่ม 2 เสาหลักสปีดรายได้
สำหรับสินค้าเสาหลักที่ 2 และ 3 นั้น เบื้องต้นจะผลักดันแบรนด์พีจอย (pejoy) บิสกิตแท่งสอดไส้ขึ้นมาเป็นเสาหลักต้นที่ 2 หลังผู้บริโภคไทยให้การตอบรับดีเมื่อนำสินค้าไปออกบูทในจุดต่าง ๆ สะท้อนถึงโอกาสและศักยภาพ โดยวางโพซิชั่นบิสกิตพรีเมี่ยมและมุ่งเจาะกลุ่มวัยทำงาน จากการใช้วัตถุดิบนำเข้า เช่น ช็อกโกแลตจากเบลเยียม และรสชาติอย่าง กลิ่นนมฮอกไกโด ขณะที่ป๊อกกี้จะเป็นรสช็อกโกแลตควบคู่กับการโหมแคมเปญสื่อสารแบบเข้มข้นโดยในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เดินสายโรดโชว์ของแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป๊อกกี้หรือนมอัลมอนด์ โคกะ จะนำพีจอยไปจัดกิจกรรม-ออกบูทร่วมด้วยเพื่อเร่งสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคและความเชื่อมั่นกับคู่ค้าให้เร็วที่สุด
พร้อมกับใช้พรีเซ็นเตอร์ “คิม-คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส” นักแสดงและนางแบบดัง, ภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ซึ่งออนแอร์เมื่อเดือนเมษายน ไปจนถึงโฆษณาออนไลน์ในธีมการบริโภคเพื่อผ่อนคลายจากการทำงาน และความพรีเมี่ยม สอดคล้องกับฐานผู้บริโภควัยทำงาน
ส่วนแบรนด์ที่จะมาเป็นเสาหลักต้นที่ 3 นั้น คาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในปี 2568 เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพให้สามารถตอบโจทย์ของผู้บริโภคไทยได้อย่างตรงจุด อาศัยจุดแข็งอย่างการมีศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย
จ่อเปิดตัว 2 สินค้าใหม่เร็ว ๆ นี้
พร้อมกันนี้บริษัทจะนำสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มโดยคัดเลือกจากกว่า 80 แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของกูลิโกะ กรุ๊ป เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นและเพิ่มโอกาสการเติบโต โดยสินค้าที่จะนำเข้าเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ จะมีทั้งกลุ่ม Health & Wellness ซึ่งกำลังเติบโตจากกระแสสุขภาพที่มาแรงต่อเนื่อง แต่บริษัทยังมีสินค้าเพียงแบรนด์เดียว คือ นมอัลมอนด์ โคกะ ที่เปิดตัวเมื่อปี 2566 และปัจจุบันมีเพียง 3 รสชาติ จึงต้องนำแบรนด์สินค้าด้านสุขภาพเข้ามาเพิ่มในพอร์ตโฟลิโอของไทยให้หลากหลายขึ้น และไอศกรีมกูลิโกะในแพ็กเกจไซซ์ใหญ่ขนาด 3 กิโลกรัม สำหรับเจาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหาร ต่อเนื่องจากการเพิ่มไอศกรีมแบบกระปุกขนาด 275 กรัม “กูลิโกะ เจแปนนีส เซนเซชัน” 2 รสชาติ เพื่อขยายฐานจากกลุ่มทานที่ร้านไปยังกลุ่มซื้อกลับไปทานที่บ้านหรือ Take Home เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากไอศกรีมเป็นตลาดที่เติบโตสูง โดยเฉพาะปี 2567 นี้ที่สภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง
ป๊อกกี้กวาด 4 เป้าหมาย
ด้านเสาหลักเดิมอย่าง ป๊อกกี้นั้น นายเฉลิมพงษ์กล่าวว่า จะจัดเซ็กเมนต์สินค้าแบรนด์ป๊อกกี้ที่ปัจจุบันมีกว่า 10 รสชาติ ออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อเพิ่มความชัดเจนของการทำตลาดและรับมือความซับซ้อนของตลาด ประกอบด้วย กลุ่มพรีเมี่ยมที่ลงทุนกับสินค้าที่มีฟังก์ชั่น อย่าง ป๊อกกี้ ครัช ซึ่งใช้วัสถุดิบสุขภาพ เช่น แป้งโฮลวีต ผลไม้จริง กลุ่มเอ็กซ์คลูซีฟเป็นรสชาติที่วางขายเฉพาะในไทยเท่านั้น อย่าง รสมะม่วง ซึ่งได้รับความนิยมสูงทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาติอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลิมิเต็ดซึ่งจะเป็นรสชาติที่ขายแบบจำกัดเวลาช่วงหน้าร้อนและปลายปี เน้นสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดผู้บริโภคให้ติดตามแบรนด์ โดยจะมีรสชาติใหม่เข้ามาหมุนเวียนถี่ขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มพื้นฐาน 5 รสชาติ เช่น รสช็อกโกแลต สตอว์เบอรี่ ฯลฯ
ขณะเดียวกันจะเพิ่มโอกาสการบริโภคป๊อกกี้ให้หลากหลายขึ้นกว่าการทานเป็นขนมขบเคี้ยว ด้วยการนำเสนอเมนูอาหาร-เครื่องดื่มที่ใช้ป๊อกกี้เป็นส่วนประกอบ ผ่านการเดินสายเปิดร้านเครื่องดื่ม Pocky Cafe แบบพ็อปอัพในจุดต่าง ๆ เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว สยามเซ็นเตอร์ อาคารพาร์คสีลม เซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ
“แม้ตลาดบิสกิตจะมีการแข่งขันราคาดุเดือด จนต้องทำโปรโมชั่นต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยยินดีเพิ่มเงินหากสินค้าที่ได้มีความคุ้มค่าจากการเพิ่มมูลค่าด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ความเป็นมิตรกับสุขภาพ”
นอกจากการจัดกลุ่มสินค้าแล้ว บริษัทยังร่วมมือกับคู่ค้าใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อวางแผนการตลาดและการจัดการสินค้าร่วมกันให้สอดคล้องกับฐานผู้บริโภค เช่น รูปแบบ-ไซซ์สินค้าที่มีความต้องการในแต่ละพื้นที่ เสริมกับการจัดโปรโมชั่น-ของแถม
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกูลิโกะ เสริมอีกว่า นอกจากเสริมศักยภาพด้านสินค้าและการตลาดแล้ว บริษัทยังเดินหน้าเสริมศักยภาพขององค์กร ด้วยการวางเป้าเป็น Employer of Choice หรือตัวเลือกแรกของคนทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานปัจจุบันและดึงดูดพนักงานใหม่ฝีมือดี ด้วยการปรับกระบวนการทำงาน ผลประโยชน์ของพนักงาน รวมถึงสถานที่ทำงาน โดยล่าสุดย้ายออฟฟิศมาที่อาคารพาร์คสีลม ซึ่งใกล้กับรถไฟฟ้าช่วยให้เดินทางสะดวก
ทั้งนี้เชื่อว่า กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยหนุนให้บริษัทเติบโตในระดับ 20% ต่อปีต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายการเติบโต 15% ที่บริษัทแม่วางเอาไว้ได้