
กูรูด้านบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เผย 7 ไม้เด็ดที่ธุรกิจเล็กใช้งัดสู้ในตลาดได้แบบไม่เกี่ยงไซซ์
วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ผศ.ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการและกลยุทธ์ และหัวหน้าหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโทแบบเร่งรัด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า หากธุรกิจขนาดเล็กจะสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี Economy of Scale ได้ ต้องสู้อย่างมีกลยุทธ์ และชั้นเชิงการบริหารธุรกิจ
โดย CMMU มี 7 ข้อแนะนำ ที่ธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถนำไปใช้เสริมแกร่งได้ ประกอบด้วย
1. หาช่องว่างทางการตลาด
ธุรกิจที่มี Economy of Scale จะเน้นยอดขายจำนวนมากและมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหญ่ ทำให้อาจมีช่องว่างในฐานลูกค้าบางกลุ่มที่ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแทรกเข้าไปได้
สำหรับการหาช่องว่างนี้ต้อง โฟกัสกับสิ่งที่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่ได้ให้บริการหรือยังไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ครอบคลุมหรือดีพอ โดยอาจเจาะไปที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เสนอสินค้า-บริการแบบ Personalized ที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้า
2. สร้างจุดเด่น เน้นจุดขาย
จุดอ่อนของธุรกิจที่มี Economy of Scale คือ เน้น “ปริมาณ” เป็นหลักทำให้สินค้า-บริการมักขาด “จุดเด่น” และ “ความแตกต่าง” ที่ชัดเจน หากธุรกิจขนาดเล็กสามารถสร้างนวัตกรรมหรือพัฒนาสินค้า-บริการให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ สร้าง “จุดขาย” ที่โดดเด่นและแตกต่าง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า ก็จะได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
3. ใช้ประโยชน์จากความคล่องตัว
ธุรกิจที่มี Economy of Scale มักเป็นองค์กรใหญ่มีโครงสร้างซับซ้อน ทำให้ค่อนข้างขาดความคล่องตัว ต่างจากธุรกิจขนาดเล็กที่โครงสร้างองค์กรเรียบง่าย มีความคล่องตัวสูง การตัดสินใจทำได้รวดเร็วกว่า ช่วยให้สามารถลองผิดลองถูกได้มากกว่า ริเริ่มนวัตกรรมหรือกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า รวมถึงปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างทันท่วงทีกว่า
4. เน้นเข้าถึง เข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้า
ธุรกิจที่มี Economy of Scale อาจดูแลลูกค้าได้ไม่ทั่วถึง ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กจะมีความใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า จึงสามารถใช้จุดนี้ มอบบริการที่สร้างความประทับใจ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากกว่า ซึ่งจะสร้างลูกค้าขาประจำได้ดีกว่า
5. ใช้พลังโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์
ธุรกิจขนาดเล็กควรใช้พลังของโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram, TikTok, YouTube ฯลฯ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนไม่ว่าจะใช้เป็นแหล่งศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ช่องทางการขาย เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ การขยายตลาดเพิ่ม สร้างการรับรู้แบรนด์ นำเสนอสินค้าและบริการ และสร้างปฏิสัมพันธ์ สร้างความใกล้ชิดกับลูกค้า รับฟังความคิดเห็น ตอบคำถาม โปรโมทสินค้าและบริการ
6. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
ธุรกิจขนาดเล็กควรสร้างพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อเพิ่มคอนเน็กชัน เพิ่มความร่วมมือ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ตลาดใหม่ หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ยากจะเข้าถึงได้
นอกจากนี้ ความร่วมมือยังทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่สามารถลงทุนเองได้ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ช่วยเพิ่มช่องทางเพิ่มโอกาส ลดความเสี่ยง มีโอกาสพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ และประสบความสำเร็จในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้
ในอนาคตธุรกิจที่มีคอนเน็กชันดีจะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ เหมือนปลาที่ว่ายน้ำไปด้วยกันก็จะช่วยปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็งและส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกัน
7. ถึงตัวเล็ก แต่ใจต้องใหญ่ กล้าที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะสู้
ธุรกิจขนาดเล็กต้องคิดบวกและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ อย่าท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่มการคิดบวกจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กกล้าเสี่ยง พร้อมสู้ และเอาชนะความท้าทาย และต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง พัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดเวลา
โดยการค้นหาความรู้เพิ่มเติม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ศึกษาดูงาน พัฒนาทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และกล้าที่จะริเริ่มลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ พัฒนาแผนธุรกิจ ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน พุ่งสู่เป้าหมายอย่างมั่นใจ
ผศ.ดร.สุเทพ เสริมว่า ในภายภาคหน้า ไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นแค่ไหน คนก็ยังเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาในทุกมิติ มหาวิทยาลัยจึงเดินหน้าเปิดสอนหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ครอบคลุมทุกด้าน ของการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาด ทั้งหลักสูตรไทย หลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรออนไลน์ นานาชาติ