สเต็มเซลล์หนุนเศรษฐกิจ “ไครโอวิวา” ย้ำแม็กเนตท่องเที่ยว

Cryoviva
จิรัญญา ประชาเสรี
สัมภาษณ์

การเก็บสเต็มเซลล์ไม่เพียงเติบโตในฐานะธุรกิจ แต่อาจกำลังกลายเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ที่มาหนุนการท่องเที่ยว ด้วยการเป็นแม็กเนตดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลกให้เข้ามารับการรักษาในประเทศไทย หลังกระแสสุขภาพปลุกดีมานด์การเก็บและใช้งานสเต็มเซลล์แพร่หลายทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลงมาอยู่ในระดับที่จับต้องได้ง่ายเป็นประวัติการณ์

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ จิรัญญา ประชาเสรี ประธานกรรมการบริหาร-ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไครโอวิวา (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการเก็บและเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์รายใหญ่ที่มีฐานในไทย, สิงคโปร์, เวียดนาม และอินเดีย ถึงศักยภาพของธุรกิจนี้และของไทยในการดึงรายได้เข้าสู่ประเทศ รวมถึงทิศทางของตลาด และแนวทางของบริษัทที่จะสร้างการเติบโต

แม็กเนตใหม่ดึงนักท่องเที่ยว

“จิรัญญา” ฉายภาพว่า ธุรกิจการเก็บรักษาและเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ไม่เพียงเติบโตจากดีมานด์ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นหลังค่าใช้จ่ายจับต้องได้ง่ายขึ้น แต่ยังทวีความสำคัญในฐานะเครื่องจักรที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศจากการดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลก สะท้อนจากปัจจุบันหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แม้แต่เม็กซิโก ต่างมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปใช้บริการด้านสเต็มเซลล์อย่างคึกคัก สร้างรายได้เข้าประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเดียวกับสัดส่วนลูกค้าต่างชาติของบริษัทที่มีสัดส่วน 20-25% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากออสเตรเลีย จีน และตะวันออกกลาง

รวมถึงมูลค่าตลาดสเต็มเซลล์ทั่วโลกที่เกิน 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตปีละ 11.57% จนมูลค่าเพิ่มเป็น 3.18 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 รวมถึงข้อมูลของ Global Wellness Institute ชี้ว่า ในปี 2022 เศรษฐกิจสุขภาพ หรือ Wellness Economy ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่า 6.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 2022-2027 มีแนวโน้มเติบโตปีละ 16.6%

แนวโน้มการเติบโตนี้มาจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีปริมาณงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้งานสเต็มเซลล์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มตัวเลือกการใช้งานสเต็มเซลล์กับโรคและอาการต่าง ๆ ให้หลากหลายขึ้นตามไปด้วย

ราคาจับต้องง่ายหนุนดีมานด์พุ่ง

สำหรับในไทย และเพื่อนบ้านอาเซียนเอง จำนวนผู้บริโภคที่สนใจใช้บริการเก็บสเต็มเซลล์เพิ่มขึ้นจากความต้องการหลักประกันด้านสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงวัย หลังค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเก็บสเต็มเซลล์ลดลงมามากจนเข้าถึงได้ง่าย ตัวอย่างเช่น แพ็กเกจของบริษัทจะเริ่มต้น 5 หมื่นบาท/การเก็บรักษา 5 ปี และ 8 หมื่นบาทสำหรับตลอดชีพ ไปจนถึงหลัก 10 ล้านบาท รวมถึงสามารถผ่อนชำระได้นานสุดถึง 20 ปี อาจเริ่มผ่อนตั้งแต่หลักพันบาท/เดือน

ADVERTISMENT

การลดลงนี้เป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งการเก็บสเต็มเซลล์จากหลายแหล่ง เช่น เยื่อหุ้มรก เลือด และเซลล์ไขมัน การเพาะเลี้ยงและเก็บรักษา รวมถึงปริมาณการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้เกิดอีโคโนมีออฟสเกลจนต้นทุนการเพาะเลี้ยงของผู้ให้บริการลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 3 ของเมื่อ 10 ปีก่อนเท่านั้น

สถานการณ์นี้ช่วยให้วงการธุรกิจสเต็มเซลล์ในไทยเติบโต ไม่ว่าจะด้านการมีจำนวนผู้ให้บริการเก็บรักษาสเต็มเซลล์เพิ่มขึ้น และความพยายามผลักดันกฎหมายให้รองรับการใช้งานสเต็มเซลล์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่การขอรับบริการเก็บสเต็มเซลล์แพร่หลายในหลายกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการเก็บสเต็มเซลล์แม้แต่ในโรงพยาบาลประกันสังคม หรือการคลอดแพ็กเกจ 5 หมื่นบาท จากเดิมที่จะมีในโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่

ADVERTISMENT

ไม่เพียงในไทยที่กระแสการใช้สเต็มเซลล์มาแรง แต่ยังรวมไปถึงเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่ดีมานด์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน แนวโน้มการเพิ่มขึ้นนี้เป็นสาเหตุที่บริษัทตัดสินใจทุ่มงบฯลงทุนสร้างห้องแล็บเก็บและเพาะสเต็มเซลล์ในเวียดนาม รวมถึงขยายขนาดห้องแล็บในประเทศไทยให้ใหญ่ขึ้น 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสการใช้บริการเก็บสเต็มเซลล์จะแพร่หลาย แต่ยังมีช่องว่างให้สามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันแม้แต่ในไทยจำนวนผู้เก็บสเต็มเซลล์เฉลี่ยยังอยู่ที่ 2-3 พันราย/ปีเท่านั้น ซึ่งยังน้อยกว่าอัตราการเกิดอยู่มาก จึงไม่ได้รับผลกระทบแม้อัตราการเกิดจะน้อยลง

เล็งลงทุนเพิ่ม-รุกต่างประเทศ

“จิรัญญา” กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางของไครโอวิวา หลังจากนี้ในส่วนของประเทศไทยจะโฟกัสกับการลงทุนอัพเกรดเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมกับสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์ทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริโภคทั่วไป

ด้วยการจับมือกับสถาบันการศึกษา เช่น สนับสนุนสเต็มเซลล์ให้สถาบัน หรือห้องแล็บต่าง ๆ สำหรับทำวิจัย รวมถึงจัดอบรม-สัมมนา และร่วมอีเวนต์ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือความท้าทายหลักอย่าง ความเข้าใจเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ที่ยังไม่เพียงพอทั้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้บริโภคทั่วไป ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและเสียโอกาสทางการใช้งาน รวมถึงทางธุรกิจ

พร้อมเดินหน้าขยายตลาดในอาเซียนไปยังประเทศใหม่ที่มีศักยภาพด้านจำนวนและแนวโน้มการเติบโตของประชากร เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ไว้ที่สูงกว่า 20% ต่อปี ซึ่งหากเติบโตได้ตามแผนนี้ต่อเนื่อง 2-3 ปี จะพิจารณาลงทุนขยายห้องแล็บในเฟสต่อไปด้วย