ราคาโดนใจ “มิลเลนเนียล” ดีมานด์ “เพชรสังเคราะห์” พุ่ง

Market Move

เพชรสังเคราะห์ หรือ Synthetic diamonds ซึ่งสร้างจากห้องแล็บนั้น แม้จะมีคุณสมบัติเหมือนเพชรธรรมชาติทุกประการทั้งโครงสร้างทางเคมี ความใสและความแข็ง รวมถึงราคาถูกกว่า แต่ที่ผ่านมากลับถูกผู้บริโภคและวงการผู้ค้าเพชรทั่วโลกมองเป็นสินค้าชั้น 2 จนมีดีมานด์เพียง 1% ของตลาดเพชรดิบโลก อย่างไรก็ตามฐานผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปส่อเค้าที่จะผลักดันสถานะฐานะของเพชรสังเคราะห์ขยับขึ้นมาเทียบชั้นเพชรธรรมชาติได้เป็นครั้งแรก

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า ดีมานด์เพชรสังเคราะห์อาจเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในเวลาไม่กี่ปีหลังจากนี้ ด้วยความสนใจจากกลุ่มมิลเลนเนียล หรือผู้บริโภคอายุ 22-37 ปี ในโลกตะวันตกอย่างสหรัฐและยุโรป ซึ่งหันมาสนใจเพชรสังเคราะห์กันมากขึ้น ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่เป็นมิตรมากกว่าและด้านมนุษยธรรม

“อามิช ชาห์” ประธานกรรมการของ ALTR Created Diamonds บริษัทผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์ ให้ความเห็นว่า มูลค่าตลาดเพชรสังเคราะห์อาจเติบโตจากประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ไปเป็น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 เนื่องจากกลุ่มมิลเลนเนียลสนใจประเด็นแหล่งที่มาของเพชรมากกว่าคนรุ่นก่อน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องการซื้อเพชรแต่ไม่อย่างจ่ายแพง ซึ่งเพชรสังเคราะห์สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 กลุ่ม เพราะการสร้างเพชรในห้องแล็บส่งผลกับธรรมชาติน้อยกว่าทำเหมือง อีกทั้งไม่มีประเด็นเรื่องบังคับใช้แรงงานทาสหรือบลัดไดมอนด์อีกด้วย นอกจากนี้ราคายังถูกกว่าเพชรธรรมชาติประมาณ 20-30% จึงสามารถจับต้องได้ง่ายกว่า

“เพชรที่สร้างในห้องแล็บนั้นมีความเป็นเพชรแท้ไม่ต่างกับดอกไม้ที่ปลูกในเรือนกระจก อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า”

ไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของ “แคทรีน มันนี” รองประธานกรรมการของบลินเลียน เอิร์ท (Brilliant Earth) ผู้ค้าปลีกอัญมนี ที่กล่าวว่า จำนวนการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเพชรสังเคราะห์บนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อสินค้าชนิดนี้

ทั้งยังสอดคล้องกับผลวิจัยของบริษัทวิจัย “เอ็มวีไอ มาร์เก็ตติ้ง” (MVI Marketing) ที่พบว่า 70% ของกลุ่มมิลเลนเนียลยอมรับว่าเพชรสังเคราะห์เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับทำแหวนหมั้นให้กับคู่รักของตน

“ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตเพชรยังก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถผลิตเพชรขนาดใหญ่และคุณภาพสูงขึ้น จนแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่าแน่นอน” แคทรีน มันนี กล่าว

อย่างไรก็ตาม “สถาบันอัญมณีแห่งอเมริกา” คาดการณ์ว่า สถานการณ์นี้อาจไม่ส่งผลกระทบกับตลาดรวมเพชร แต่จะเกิดเป็นเซ็กเมนต์ใหม่สำหรับเพชรสังเคราะห์ขึ้นแทน เพราะแม้อคติต่ออัญมณีสังเคราะห์จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังถือเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม สะท้อนจากตลาดทับทิม ไพลิน มรกต และอื่น ๆ ซึ่งมีสินค้าสังเคราะห์เข้าสู่ตลาดมานานกว่า 100 ปีแล้ว

แต่ตลาดของกลุ่มธรรมชาติและสังเคราะห์แยกจากกันอย่างชัดเจน แต่ผู้ค้าเพชรบางส่วน อาทิ “ซิกเนต จิวเวลเลอร์” (Signet Jewelers) ผู้ค้าปลีกเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลกยังยืนยันไม่ขายเพชรสังเคราะห์เช่นเดิม แม้บริษัทจะขายอัญมณีสังเคราะห์ชนิดอื่นอยู่แล้วก็ตาม พร้อมระบุว่า ควรจะต้องมีกระบวนการแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบชัดเจนว่าเพชรเม็ดใดเป็นเพชรสังเคราะห์อีกด้วย

“จากการสำรวจของบริษัทเองผู้บริโภคทุกกลุ่มยังเลือกเพชรแท้มากกว่าเพชรสังเคราะห์อยู่ตลอด โดยเฉพาะในกรณีที่นำไปใช้ในงานแต่งงาน”


ด้วยสภาพที่ผู้ค้าแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายนี้คงต้องให้เวลาและผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินว่า ทิศทางในอนาคตของตลาดเพชรจะเป็นอย่างไรต่อไป