“ค้าปลีกสหรัฐ” เจอศึกใหม่ การเมืองกดดันหั่นราคาเอาใจฐานเสียง

burger
คอลัมน์ : Market Move

บรรดาค้าปลีกและฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐกำลังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ อย่างแรงกดดันทางการเมืองที่พยายามบีบให้ผู้ประกอบการลดราคาสินค้าและเมนูอาหารลง เพื่อเอาใจฐานเสียงของตน

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า ยักษ์ค้าปลีกอย่าง วอลมาร์ต เชนร้านชำรายใหญ่ และ โครเกอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ รวมถึงยักษ์ฟาสต์ฟู้ด แมคโดนัลด์ เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายของแรงกดดันทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2024 นี้ เมื่อนักการเมืองจากทั้ง 2 พรรคต่างมุ่งขยี้ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อพุ่งสูง หวังเอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งและชิงคะแนนเสียงจากคู่แข่ง

โดยความพยายามสร้างแรงกดดันนี้เห็นได้ชัดเจน หลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกจากรัฐแมสซาชูเซตส์ สังกัดพรรคเดโมแครต และ บ็อบ เคซีย์ วุฒิสมาชิกจากรัฐเพนซิลเวเนีย สังกัดพรรคเดโมแครต ร่วมกันส่งจดหมายถึง ร็อดนีย์ แมคมัลเลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโครเกอร์

จดหมายดังกล่าวตั้งคำถามเกี่ยวกับการที่บริษัทนำป้ายราคาอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งาน ว่าอาจเป็นช่องทางให้บริษัทสามารถนำกลยุทธ์การปรับราคาตามดีมานด์หรือ Dynamic Pricing ที่ได้รับความนิยมในธุรกิจการบิน และแอปเรียกรถมาใช้ อย่างการขึ้น-ลดราคาสินค้าตามดีมานด์ในขณะนั้น ๆ แบบเรียลไทม์

ด้านคู่แข่งอย่างพรรครีพับลิกัน ก็พยายามกล่าวหาว่าการบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีส่วนให้เกิดกระแสการขึ้นราคาสินค้า-อาหาร ทั้งนี้ เนื่องจากนักการเมืองที่อยู่ในรัฐสะวิงสเตต หรือรัฐที่คะแนนนิยมของทั้ง 2 พรรคยังคงก้ำกึ่ง พยายามเรียกคะแนนเสียงด้วยการชูประเด็นเรื่องความไม่พอใจของผู้บริโภคต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยเฉพาะกระแสการขึ้นราคาสินค้า-อาหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ แมคโดนัลด์ ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในประเด็นราคาเบอร์เกอร์ที่จับต้องยากขึ้นเรื่อย ๆ จนประธานของแมคโดนัลด์สหรัฐอเมริกาต้องลงมือเขียนจดหมายเปิดผนึกความยาว 13 ย่อหน้า พร้อมเอกสารอธิบายการตั้งราคาอาหารของแบรนด์

ADVERTISMENT

โดยแมคโดนัลด์ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยของเมนูแฮมเบอร์เกอร์ บิ๊กแมค และแมคนักเกตแบบ 10 ชิ้นนั้น เพิ่มขึ้น 21% และ 28% ตามลำดับ ซึ่งแม้จะเพิ่มขึ้นเยอะ แต่ยังน้อยกว่าตัวเลขที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย

ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกหางเลขจากกระแสการเมือง หลังมีวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งส่งจดหมายแสดงความกังวลถึงการใช้กลยุทธ์ลดปริมาณลง แต่คงราคาขายเดิม หรือ Shrinkflation

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นอกจากแมคโดนัลด์แล้ว กลุ่มผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต่างทยอยออกมาชี้แจง โดยโฆษกของวอลมาร์ตยืนยันว่า บริษัทจะยังยึดมั่นในกลยุทธ์ราคาถูกทุกวัน หรือ Everyday Low Price พร้อมยกตัวอย่างโปรโมชั่นลดราคารับเปิดเทอม ซึ่งครั้งนี้มีชุดสินค้าวัตถุดิบอาหารที่ออกมาให้ผู้ปกครองสามารถทำอาหารกลางวันให้บุตรหลานในงบฯ 2 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน ได้นานถึง 2 สัปดาห์

ด้าน โครเกอร์ แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้งานป้ายราคาดิจิทัล แต่ยืนยันว่าการรักษาระดับราคาสินค้าให้จับต้องง่ายนั้นเป็นรากฐานสำคัญของยุทธศาสตร์ของบริษัท เพราะราคาที่เข้าถึงง่ายจะช่วยดึงดูดลูกค้าที่มีความจงรักภักดีกับแบรนด์และช่วยให้ธุรกิจเติบโต

นอกจากนี้ ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ฟาสต์ฟู้ดหลายรายยังเริ่มขายเมนูราคาประหยัดประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย อาทิ แมคโดนัลด์ เวนดีส์ และทาโก้เบล หวังกระตุ้นยอดขายและลดแรงกดดันทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้ง 2 พรรคเลือกชูประเด็นเรื่องเงินเฟ้อเพื่อชิงคะแนนเสียง สะท้อนว่าผู้บริโภคทุกระดับรายได้ทุกพื้นที่ และทุกแนวคิดทางการเมือง ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับราคาอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และที่อยู่อาศัย

ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเมื่อข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐชี้ว่า ณ เดือนมิถุนายน ราคาสินค้าของชำจะเพิ่มขึ้น 1.1% จากปีก่อน แต่ต้นทุนการทำอาหารทานในบ้านกลับพุ่งไปถึง 26.2% เมื่อเทียบกับมิถุนายน 2019 ส่วนการทานอาหารนอกบ้านแพงขึ้น 27.2%

เช่นเดียวกับผลโพลล่าสุดของ The Economist และ YouGov ที่สำรวจชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ประมาณ 1.6 พันคน ซึ่งได้ผลออกมาว่า เงินเฟ้อและค่าครองชีพถูกยกให้เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด มากกว่าปัญหาอื่น ๆ ที่ถูกอย่าง ผู้อพยพ สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และนโยบายประกันสุขภาพพื้นฐาน