ยาสูบจับมือเครือ”เจ้าสัวเจริญ”รุกตลาดบุหรี่ CLMV ส่งแบรนด์พัทยาเจาะคนจีน

ผู้ว่าการยาสูบฯ รุกต่อยอดธุรกิจใหม่ หลัง พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทยบังคับใช้ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เดินหน้าร่วมทุน “BJC” ธุรกิจในเครือ “เจ้าสัวเจริญ” รุกตลาดบุหรี่ CLMV คาดประเดิมเปิดตลาด สปป.ลาวปีนี้ พร้อมเตรียม MOU จีนรับจ้างผลิตบุหรี่แบรนด์ “พัทยา” ขายนักท่องเที่ยวชาวจีน วางจำหน่ายในดิวตี้ฟรี

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นการยกระดับให้โรงงานยาสูบมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ชื่อว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ส่งผลให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจและเตรียมพร้อมการขยายหรือต่อยอดธุรกิจไว้ระดับหนึ่งแล้ว จากนี้ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันทีภายใต้ พ.ร.บ.การยาสูบฯ จะปลดล็อกการต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมบุหรี่ จากเดิมที่แม้แต่การรับจ้างผลิต การเข้าไปร่วมทุนเพื่อจำหน่ายบุหรี่ในต่างประเทศ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ แม้กระทั่งการผลิตใบยาเบอร์เลย์เพื่อจำหน่าย รวมถึงการจำหน่ายยาเส้นพองให้กับโรงงานผลิตเจ้าอื่น ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่หลังจากนี้แนวทางทั้งหมดสามารถดำเนินการได้แล้ว

จับมือเจ้าสัวเจริญรุก CLMV

ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การยาสูบฯ เตรียมตกลงทำธุรกิจร่วมกับ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจในกลุ่มบิ๊กซี ในลักษณะ joint venture เพื่อนำบุหรี่ไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม) จะเริ่มดำเนินการในประเทศลาวก่อน ซึ่งบีเจซีจะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้ากับหน่วยงานรัฐของลาวก่อน เช่นเดียวกับในกัมพูชาที่ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

สำหรับเวียดนามและเมียนมา จะต้องเข้าไปจ้างรัฐวิสาหกิจในเวียดนามผลิตบุหรี่ให้ โดยที่การยาสูบฯจะต้องแต่งตั้งผู้ประกอบการค้าท้องถิ่นของประเทศนั้นเป็นผู้รับสิทธิ์ (licensing brands) เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่แบรนด์ไทยให้แก่บิ๊กซีในประเทศเหล่านี้อีกต่อหนึ่ง

“การจำหน่ายในลาวน่าจะเห็นได้เร็วที่สุด โดยจะเกิดขึ้นในปีนี้ส่วนเวียดนามจะช้าหน่อย เพราะมีเรื่องการให้ licensing brands ที่ต้องผ่านกฎหมายร่วมทุน PPP เพราะถือว่าเป็นการใช้สินทรัพย์ของโรงงานยาสูบ เป็นสินทรัพย์ของประเทศ เพราะแบรนด์ ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ แต่การไปขายก็ต้องศึกษาตลาดในแต่ละประเทศว่าจะใช้แบรนด์อะไรเข้าไป จึงจะเหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะมีทั้งส่งแบรนด์ที่มีอยู่แล้วไป และสร้างแบรนด์ใหม่” นางสาวดาวน้อยกล่าว

รับจ้างจีนผลิตบุหรี่ขายนักเที่ยว

นางสาวดาวน้อยกล่าวอีกว่า อีกแนวทางดำเนินธุรกิจคือ การยาสูบจะจับมือกับประเทศจีน ในการรับจ้างผลิตบุหรี่จำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งบุหรี่ดังกล่าวจะมีรสชาติที่ถูกรสนิยมคนจีน แต่ติดยี่ห้อไทย เช่น ยี่ห้อ “พัทยา” เป็นต้น โดยจำหน่ายเฉพาะที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ขาออกจากประเทศไทยเท่านั้น

“ภายในดือน พ.ค.นี้ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับทางจีน เริ่มแรกจะรับจ้างผลิตก่อน หลังจากนั้นจะมาดูกันว่า ถ้ามีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นการร่วมลงทุน” นางสาวดาวน้อยกล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน ต่อไปการยาสูบฯ ก็สามารถปลูกพืชอื่น ๆ เพิ่มได้นอกจากใบยาสูบ โดยขณะนี้กำลังเสนอออกกฎกระทรวงให้ปลูก “กัญชง” ในแถบภาคเหนือได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการขายยาสูบได้น้อยลง ซึ่งกัญชงสามารถนำใบมาผลิตกระดาษสำหรับมวนบุหรี่ และแกนกัญชงก็สามารถนำมาผลิตเป็นก้นกรองบุหรี่ได้

นางสาวดาวน้อยกล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพิมพ์ของการยาสูบฯ ที่มีกำลังการผลิตเหลือ ปัจจุบันก็มีการรับจ้างผลิตพวกแสตมป์ที่ไม่ใช่แสตมป์ยาสูบอยู่ด้วย

5 ปีธุรกิจใหม่ออกดอกออกผล

นางสาวดาวน้อยกล่าวอีกว่า ช่วง 4-5 เดือนแรกของปีนี้ รายได้ของการยาสูบฯ (โรงงานยาสูบเดิม) ถือว่าทรงตัว แต่เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายใหญ่อีก 2-3 รายการ ซึ่งหากจ่ายไปก็จะติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานทั้งปีงบประมาณ 2561 น่าจะขาดทุนประมาณ 1,575 ล้านบาท จากผลกระทบการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ก่อนหน้านี้

“ภาพรวมปีนี้ รัฐบาลขาดทุนแน่นอน แม้เราจะมีการต่อยอดธุรกิจใหม่แต่กว่าจะเห็นน้ำเห็นเนื้อคงต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพราะธุรกิจใหม่ ไม่ใช่ง่าย ๆ แล้วเราก็มีขีดจำกัดว่าเราทำได้เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เท่านั้น”

เลื่อนย้ายโรงงานอีก 4 เดือน

ส่วนแผนย้ายโรงงานทั้งหมดไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่ จ.อยุธยานั้น นางสาวดาวน้อยกล่าวว่า จะเลื่อนเวลาออกไปอีก 4 เดือนจากแผนเดิม เนื่องจากต้องปรับปรุงซ่อมแซมเกี่ยวกับโครงสร้างหลังจากทดสอบ โดยกำหนดว่าจะเริ่มเดินเครื่องจักรผลิตในวันที่ 17 ก.ค.นี้ แต่ระยะแรกจะดำเนินงานควบคู่ทั้ง 2 แห่งก่อน เพราะต้องทยอยย้ายเครื่องจักร


นางสาวดาวน้อยกล่าวด้วยว่า ตามกฎหมายใหม่ การยาสูบฯจะต้องปรับโครงสร้างการบริหารงาน เนื่องจากตำแหน่งระดับบริหารลดลง ซึ่งต้องรอให้มีผู้เกษียณอายุการทำงานก่อนจึงจะปรับโครงสร้างใหม่ได้ แต่ยืนยันว่าในส่วนของพนักงานยาสูบ ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างแต่อย่างใด