
โลกเดือด หรือปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ กลายเป็นโจทย์สำคัญทั้งสำหรับผู้บริโภคที่ชีวิตความเป็นอยู่ได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อไปยังภาคธุรกิจ จนกลายเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งหาแนวทางรับมืออย่างเร่งด่วน
“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงแนวทางการรับมือ “วิกฤตโลกเดือด” ในการบรรยายพิเศษในงาน “PRACHACHAT ESG FORUM 2024” ภายใต้ธีม “Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด”
โลกเดือดกระทบทุกฝ่าย
โดย “ฐาปน” ย้ำว่า ภาวะโลกเดือด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชนและองค์กรธุรกิจ เนื่องจากสภาพอากาศสุดขั้วและปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภค แต่ยังรวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยด้วย
ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาผนึกกำลังร่วมแก้ไข เพราะทุกคนทั้งประชาชนและองค์กรธุรกิจต่างเป็นผู้บริโภค ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกใบนี้เพื่อการดำรงชีพ ความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง การเจริญเติบโตและความมั่นคง ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการใช้ราวกับทรัพยากรเหล่านั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด จนส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว
ซึ่งผลกระทบนี้อาจจะรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อคำนึงถึงจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มจากประมาณ 8 พันล้านคนในปัจจุบันเป็นกว่า 1 หมื่นล้านคน ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยังเผชิญความท้าทายด้านเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 และความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ
ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นจังหวะหรือช่วงเวลาที่ต้องลงมือแก้ไข หรือ Time for Action โดยโฟกัสกับคำถามว่า เราจะอยู่กันอย่างไรในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคมีจำนวนมาก จะดูแลรักษาและเติมเต็มทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์อย่างไร
โจทย์นี้แก้คนเดียวไม่ได้
โดย “ฐาปน” ยืนยันว่า ความร่วมมือในทุกระดับและทุกภาคส่วนจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของการแก้ปัญหาเหล่านี้ และสร้างพลวัตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะหากแต่ละองค์กร หรือผู้บริโภคแต่ละราย พยายามหาโซลูชั่นในแบบปัจเจกหรือคำนึงถึงเฉพาะความสามารถหรือศักยภาพของตนเองเท่านั้น อาจทำให้เข้าใจไปว่า ไม่สามารถเข้าไปมีบทบาท หรือไม่มีความสามารถเพียงพอ
ตัวอย่างเช่น การทำ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้นจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศ Net Zero ซึ่งการที่ประเทศจะ Net Zero ได้นั้น ภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคมในแต่ละประเทศก็ต้องช่วยกัน Net Zero ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้การร่วมพลังกันจึงเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาโลกเดือด โดยขณะนี้ในไทย ภาคเอกชนมีการรวมตัวกันหลายกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมือ-แลกเปลี่ยนความรู้ในการทำ ESG หรือการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน
หนึ่งในนั้นคือ Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบข้ามอุตสาหกรรมของซัพพลายเออร์หลากหลายขนาดตั้งแต่รายใหญ่ ไปจนถึงรายย่อยเมื่อช่วงปลายปี 2562 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวนกว่า 2 พันราย ซึ่งรวมถึงบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัดด้วย โดยมีการพูดคุยกันทั้งด้านการปรับตัวสู่ ESG หรือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ไปจนถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเทรนด์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ ด้วยแนวคิดว่า ยิ่งร่วมมือกันใกล้ชิดกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้โอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
โอกาสรายเล็กชิงปรับตัว
“ฐาปน” กล่าวต่อไปว่า สองสิ่งที่ได้จากการพูดคุยใน TSCN คือ ปัจจุบันธุรกิจขนาดเล็กอาจมีได้เปรียบและสามารถปรับตัวด้าน ESG ได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดกลางหรือใหญ่ เนื่องจากสามารถอาศัยจังหวะของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้อัพเกรดธุรกิจและสินค้า-บริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้คล่องตัวกว่าธุรกิจขนาดใหญ่-กลางที่อาจต้องรอเวลาให้การลงทุนในเทคโนโลยีเดิมคุ้มค่าก่อน
ขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่นั้น การปรับในส่วนของธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายสูงสุด เนื่องจากต้องมีการสื่อสารรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนขององค์กร ซึ่งในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ การหาจุดสมดุลย์ของการปรับเปลี่ยนในแต่ส่วนขององค์กรเพื่อบาลานซ์ระหว่างผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
โดยในส่วนนี้สามารถนำเอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาตอบโจทย์ได้ เนื่องจากความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้มากและรวดเร็วกว่ามนุษย์ เพราะปราศจากอคติหรืออัตตา ซึ่งมักเป็นอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือระหว่างมนุษย์ด้วยกันจากความกังวลเรื่องผลประโยชน์ของหน่วยงาน-ตนเอง นอกจากนี้การทำเอไอมาใช้จะช่วยให้มนุษย์สามารถโฟกัสกับจุดแข็งอย่างการสร้างสรรค์โซลูชั่นได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแพลตฟอร์ม SX หรือ Sustainability Expo ที่มีการพูดคุยเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติทั้งสิ่งแวดล้อม เครือข่าย สังคม ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยปี 2567 นี้ จะจัดในวันที่ 27 กันยายน-6 ตุลาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์