“เทลสกอร์” ฉายอนาคต น่านน้ำใหม่…ครีเอเตอร์ไทย

tellscore
สุวิตา จรัญวงศ์

การแข่งขันในวงการครีเอเตอร์กำลังดุเดือดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนครีเอเตอร์ที่มีมหาศาลระดับมากกว่าร้อยล้านคนทั่วโลก และระดับกว่าสิบล้านคนในไทย รวมถึงยังมีผู้ตบเท้าเข้าสู่วงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันชิงฐานผู้ชม ผู้ติดตามและเม็ดเงินรายได้จากแบรนด์ดุเดือดขึ้นตามไปด้วย

ท่ามกลางความดุเดือดนี้ การปรับตัวให้ทันกับเทรนด์และดีมานด์ของตลาดจึงทวีความสำคัญต่อความสำเร็จของครีเอเตอร์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่วงการในอนาคต

“สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและที่ปรึกษาด้านอินฟลูเอนเซอร์ เผยบิ๊กดาต้าสำคัญของวงการครีเอเตอร์ พร้อมฉายทิศทางอนาคตของวงการครีเอเตอร์ไทยว่า เศรษฐกิจครีเอเตอร์ของไทยมีมูลค่าประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 25-30% ต่อเนื่องมา 3 ปี ตามความนิยมสื่อดิจิทัลและความต้องการสื่อที่วัดผลได้

ส่วนจำนวนครีเอเตอร์นั้น ตามสถิติของ Linktree ปัจจุบันทั่วโลกมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 200 ล้านคน หรือประมาณ 3% ของประชากรโลก ส่วนในไทยคาดว่ามีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประมาณ 9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ล้านคนเป็นฟูลไทม์ ส่วนกลุ่มฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้น 15-20% ทุกปี ขณะเดียวกันปี 2567 นี้ยังเป็นปีที่ครีเอเตอร์ทั่วโลกผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์แบบฟูลไทม์จำนวนมากที่สุดอีกด้วย

โดยอินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโคร ซึ่งเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามไม่มากนัก แต่สร้างคอนเทนต์ได้เป็นธรรมชาติ กำลังได้รับความนิยมจากผู้ชมและแบรนด์มากขึ้น

ADVERTISMENT

มั่นใจไม่ Over Supply

สำหรับเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคตของวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์นั้น “สุวิตา” กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจครีเอเตอร์ของไทยจะเติบโตแข็งแกร่ง แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะอิ่มตัวหรือโอเวอร์ซัพพลาย เนื่องจากนักการตลาดยังต้องการตัวเลือกที่หลากหลายยิ่งขึ้นอีก ขณะเดียวกันรูปแบบของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์อาจเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์ม เช่น TikTok ซึ่งเน้นการขายสินค้า-บริการมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากการแข่งขันจะทำให้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ระดับค่าจ้างเสถียรและมีมาตรฐานกลางมากขึ้นตามอำนาจการต่อรองของแบรนด์

ADVERTISMENT

โดยปัจจุบันราคาต่อ 1 คอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์โดยเฉลี่ย

  • ระดับไมโครซึ่งมีผู้ติดตาม 1-2 หมื่นคนจะอยู่ที่ 4-5 พันบาท
  • ระดับกลางหรือผู้ติดตาม 1-1.5 แสนคนจะอยู่ที่ 1 หมื่นบาท
  • ระดับเมกะผู้ติดตาม 2.5 แสนคนขึ้นไปอยู่ที่ 1 แสนบาท

ขณะเดียวกันอินฟลูเอนเซอร์จะเผชิญความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากแบรนด์คัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ละเอียดขึ้นตามงบฯ ที่มีน้อยลง โดยนอกจากยอดผู้ชมแล้ว ยังต้องสามารถสร้างคอนเวอร์ชั่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ปิดการขาย สมัครสมาชิก ฯลฯ ได้อีกด้วย

ท็อป 3 อินฟลูฯเนื้อหอม

สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ สุขภาพ-ความงาม ตามด้วยไลฟ์สไตล์กิน-เที่ยว สุดท้ายคือ การเงิน ทั้งนี้สะท้อนจากดีมานด์ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงธนาคาร บริษัทประกัน ฯลฯ ยังคงมีและใช้เม็ดเงินกับอินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ด้านอสังหาฯและยานยนต์ ซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มท็อป 3 นั้นความต้องการลดลง เชื่อว่าเกิดจากสภาพของวงการอสังหาฯและการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์จำนวนหนึ่งเปลี่ยนแนวจากคอนเทนต์รถสันดาปเป็นรถอีวี ทำให้การจ้างหยุดชะงักไประยะหนึ่ง

ส่วนรูปแบบคอนเทนต์ดาวรุ่งมาแรงที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน จะเป็นคอนเทนต์ข่าว ซึ่งเติบโตมาตั้งแต่ปี 2566 หลังช่องทีวีต่าง ๆ เปิดให้นักข่าวในสังกัดทำช่องทางของตนเอง, คอนเทนต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรในวงการศึกษา และคอนเทนต์แนวสูงวัยและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

B2B น่านน้ำใหม่ต้องจับตา

“สุวิตา” เสริมว่า แม้การใช้งานครีเอเตอร์อินฟลูเอนเซอร์จะแพร่หลายมาก แต่ยังมีหลายแบรนด์และอุตสาหกรรมที่ยังถือเป็นน่านน้ำใหม่ โดยหนึ่งในกลุ่มที่น่าจับตาคือ กลุ่มธุรกิจ B2B ซึ่งเริ่มมีความเข้าใจว่ามีอินฟลูเอนเซอร์สามารถช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ด้วยการสื่อสารตรงไปยังยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ตัวอย่างเช่น การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะสื่อสารไปยังเอเย่นต์หรือตัวแทนขาย แทนการสื่อสารไปยังผู้บริโภคปลายน้ำ พร้อมกับสนับสนุนเอเย่นต์ด้วยอินเซนทีฟและเครื่องมือการตลาดฟรี ช่วยให้สามารถผลักดันยอดขายเซลเอาต์ได้มากขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงศักยภาพและความสำคัญของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ต่อวงการธุรกิจและการตลาด ซึ่งเชื่อว่านักการตลาดจะโฟกัสและร่วมงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ยอดขายของบริษัทเติบโตขึ้น 30% จากปีที่แล้ว