บัญชีคือหัวใจ

account
คอลัมน์​ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้ผมทำหลักสูตรหนึ่ง ชื่อว่า VAIP

เป็นหลักสูตรสำหรับ “มือใหม่” ที่ต้องการเรียนรู้เรื่อง AI

กลุ่มคนเรียนจะเป็นผู้ใหญ่และคนที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี เพราะเป็นการเรียน AI แบบช้า ๆ

“อาจารย์อ้น” ปฤณ จำเริญพานิช เป็นวิทยากรที่สอนเรื่อง AI ดีมาก สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

สิ่งแรกที่ผมขอ “อาจารย์อ้น” ก็คือ ที่เคยคิดว่าสอนช้า ให้ช้ากว่านั้นอีก

“ความช้า” คือเสน่ห์ของหลักสูตรนี้

ADVERTISMENT

ที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการประชาสัมพันธ์อะไร

เพราะตอนนี้รุ่น 2 ที่กำลังจะเรียนเต็มแล้วครับ

ADVERTISMENT

วิทยากรในหลักสูตรนี้ นอกจากคนที่จะสอนเรื่องการใช้ AI แล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่จะคุยเรื่อง AI แบบกว้าง ๆ และประสบการณ์จริงในการนำมาใช้กับองค์กร

แต่มีอยู่ท่านหนึ่งที่ผมตั้งใจนำมาประดับไว้ในหลักสูตรนี้ คือ คุณบุญคลี ปลั่งศิริ

อดีตซีอีโอของชินคอร์ป และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของแกรมมี่ และ BJC

เขาเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิตจริง ๆ

ผมอยากให้คนเรียนได้รู้เรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่อง AI บ้าง

โดยเฉพาะเรื่องการบริหารคน เถ้าแก่กับมืออาชีพ ธุรกิจครอบครัว ฯลฯ

เพราะคุณบุญคลีเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก

เป็นวิทยากรที่ผมเคยสัมภาษณ์หลายครั้งตอนทำหลักสูตร ABC แต่ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ก็ยังสนุกทุกที

ยังมีเรื่องราวใหม่ ๆ เสมอ

อย่าง VAIP รุ่นแรก มีนักเรียนคนหนึ่งถามว่า ถ้าคุณบุญคลีมาทำธุรกิจ SMEs มีอะไรที่ต้องทำบ้าง

คุณบุญคลีแทบไม่คิดเลย

ตอบเหมือนมีคำตอบอยู่ในใจ

ข้อแรกที่เขาจะทำคือ เข้าไปดูบัญชี

คุณบุญคลีเป็นคนที่ให้ความสำคัญเรื่องบัญชีมาก

เขาเคยบอกว่า ถ้าเขาเห็นบัญชีของบริษัทไหน เขาจะอ่านออกเลยว่าบริษัทนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

แต่สำหรับธุรกิจขนาดย่อม “บัญชี” จะบอกถึงกระแสเงินสด และกำไร-ขาดทุนของบริษัท

“บัญชี” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

“เคยได้ยินคำพูดนี้ไหม ถ้าดูบัญชีทุกวัน ไม่มีทางเจ๊ง”

คงเหมือนเราตรวจร่างกายบ่อย ๆ

เราจะไม่ป่วยหนัก

ข้อที่สอง เน้นเรื่องคุณภาพ

ธุรกิจขนาดเล็กจะสู้ขนาดใหญ่ได้ต้องโฟกัสที่ “คุณภาพ”

งานต้องดีกว่ารายใหญ่

คุณบุญคลียกตัวอย่างตอนที่จบใหม่ ๆ เขาทำธุรกิจผู้รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า

เขาจะคุมงานละเอียดมาก

งานของบริษัทเขาจะต้องเนี้ยบสุด ๆ

เหนือกว่าบริษัทใหญ่

ธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจอะไรก็ตามที่มีคู่แข่งเป็นรายใหญ่

คุณภาพของเราต้องเหนือกว่า

เรื่องที่สาม ไม่เกี่ยวกับตัวธุรกิจ แต่เป็นเรื่อง “แรงดึงดูด” ให้คนมาทำงาน

“ผมจะทำออฟฟิศให้สวยเลย ให้อยากมาทำงาน อยากถ่ายรูปโชว์เพื่อน ๆ”

ครับ ธุรกิจบางทีไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข

แต่เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ด้วย

เรื่องที่สี่ ไวไฟในบริษัทต้องเร็วกว่าที่บ้าน

ให้คนอยากมาทำงาน

ไม่หงุดหงิดเวลาใช้อินเทอร์เน็ต

“ถ้าเน็ตช้ากว่าที่บ้าน คนจะมาทำงานที่ออฟฟิศทำไม”

และเรื่องสุดท้าย ผมจะจ่ายเงินค่า ChatGPT ให้พนักงาน

เพราะเขารู้ว่า AI มีความสำคัญอย่างไร

ต้องให้พนักงานทุกคนได้รู้จักและเรียนรู้ AI

คุณบุญคลีมองว่า AI จะช่วยลดเวลาการทำงาน

และเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้

ครับ โลกวันนี้ ถ้าเรายังอยู่ในสนามการแข่งขันธุรกิจ

เรื่อง AI เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่มีคนบอกว่าในอนาคต คนเราจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

คือกลุ่มที่ใช้ AI เป็น

และคนที่ไม่รู้เรื่อง AI

ผมว่าเรื่องนี้กำลังจะเป็นจริง

คนที่โชคดีที่สุดคือ ผู้อาวุโสที่ไม่อยู่ในสนามการแข่งขันแล้ว

มีใครรู้สึกโชคดีแบบผมบ้างไหมครับ 555