2 นักการตลาดคิดอย่างไรกับคนไทยติดหรู ?

คนไทยติดหรู
(เครดิตภาพ Freepik)

ความคิดเห็นในเชิงการตลาดต่อผลสำรวจ “หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” เมื่อคนไทย 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมชอบบริโภคสินค้าหรูหรา ลักเซอรี่ในสภาวะเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ 

วันที่ 7 กันยายน 2567 ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางสำหรับงานวิจัย “Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์” ของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมชื่นชอบบริโภคสินค้าหรูหรา วิจัยระบุว่า ผู้ชายนิยมบริโภคสินค้าราคาแพงมากกว่าผู้หญิง ด้วยความต้องการในการสร้างภาพลักษณ์ โดยมีสินค้าประเภทอุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นสินค้าที่นิยมซื้อมากที่สุด ตามมาด้วยเครื่องแต่งกายและแฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม

หากแบ่งเป็นเจเนอเรชั่นจะพบว่า Gen X ครองอันดับหนึ่งด้วยการบริโภคสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมากที่สุด ตามด้วย Gen Z ต่อด้วย Gen Y และรั้งท้ายด้วย Baby Boomer ที่บริโภคสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด นอกจากนี้ ยังแบ่งพฤติกรรมของกลุ่มคนติดลักซ์ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

    1. กลุ่มคนที่บริโภคสินค้าหรูได้แบบไม่จำกัด 2%
    2. กลุ่มคนที่มีรายได้และเงินออมสูง 6%
    3. กลุ่มคนที่มีรายได้และเงินออมปานกลาง 24%
    4. กลุ่มคนที่มีรายได้และเงินออมไม่สูงมาก 28% 
    5. กลุ่มคนที่ชื่นชอบสินค้าหรูเป็นชีวิตจิตใจ 40% 

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปฟังความเห็น “2 นักการตลาด” ต่อผลสำรวจที่สวนทางกับเศรษฐกิจไทย

คำถามมากมาย ?                                                             

วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) มองว่าการใช้จ่ายของกลุ่มคนตัวอย่าง “ไม่สามารถตัดสินภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศได้” กลับกันการมุ่งไปที่ความสามารถในการใช้จ่ายรายบุคคล (disposable income) น่าจะสอดคล้องกับการบริโภคสินค้าราคาแพงได้มากกว่า 

ผลสำรวจดังกล่าวการแบ่งการบริโภคสินค้าราคาแพงตามเจเนอเรชั่น พบว่า

Advertisment
  • Gen X (เกิดปี 2508-2522) ครองอันดับ 1 เครื่องแต่งกายและแฟชั่นมากที่สุด
  • Gen Z (เกิดปี 2541-2555) ครองอันดับ 2 สนใจอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด
  • Gen Y (เกิดปี 2523-2540) ครองอันดับ 3 สนใจอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด
  • Baby Boomer (เกิดปี 2489-2507) รั้งท้ายอันดับ 4 สนใจอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด

“เจนวายที่แบกรับภาระทั้งของพ่อแม่และของลูกด้วย จะเอาที่ไหนมาซื้อของลักเซอรี่ ถ้าจะบอกว่าเจนวายคงต้องระบุด้วยว่าเจนวายยุคไหน” ความคิดเห็นจาก ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด

ธันยวัชร์ระบุว่า แม้กลุ่มคน Gen Y จะไม่ได้อยู่ในอันดับแรก ๆ ในการบริโภคสินค้าราคาแพง แต่กลุ่มคน Gen Y ที่มีช่วงอายุ 23-44 ปี เป็นเวลาของการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ที่แก่ตัวลง รวมถึงลูกที่กำลังเติบโต จึงเป็นข้อสงสัยว่า กลุ่มตัวอย่าง Gen Y นั้นคือช่วงอายุที่เท่าไหร่ ไลฟ์สไตล์ชีวิต การทำงานเป็นอย่างไร

Advertisment

ขณะที่วีรพลกล่าวถึง Gen Z กลุ่มคนช่วงอายุ 12-26 ปี วัยที่ยังไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก ทำให้ Gen Z กำลังจะกลายมาเป็นผู้บริโภคที่สำคัญของตลาดไม่ได้มีพฤติกรรมการวางแผนในระยะยาว เมื่อมีรายได้เข้ามาก็พร้อมที่จะใช้จ่ายตลอดเวลา ต่างจากเจเนอเรชั่นอื่นที่มีการวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ และมีแผนการเก็บออมที่ดี 

ธัญยวัชร์มองภาพรวมของโลกยกตัวอย่างประชากรชาว Gen Z ในประเทศจีนว่ามีเทรนด์การจ่ายอย่างประหยัดกันมากขึ้น และแบ่งปันเทคนิคการประหยัดของตัวเองลงโซเชียล ต่างจาก “No Buy Month Challenge” ชาเลนจ์การลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของคนไทยที่เคยเป็นกระแสในช่วงหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากพอที่จะสะกิดการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากนัก

ไทยทำ-ไทยใช้

แม้ว่าปัจจุบันการทำการตลาดดึงดูดลูกค้าด้วยคุณภาพระดับพรีเมียมและราคาที่สูงจะเป็นที่นิยม แต่การบริโภคสินค้าไทยในราคาที่เอื้อมถึงได้ของคนไทยกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าประหลาด ทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า คนไทยมักจะเลือกบริโภคของราคาแพงเพื่อตอบสนองความต้องการทางความรู้สึกและการสร้างภาพลักษณ์เพียงเท่านั้น

“ถ้าคนไทยสมัยนี้สนใจแต่สินค้าราคาแพงจริง สินค้าไทยยุคนี้ก็คงไม่โตมามียอดขายหลักร้อยล้าน”  ธันยวัชร์บอกพร้อมกับยกตัวอย่างแบรนด์สินค้าไทยที่ไม่ได้อยู่ในระดับ Luxury ประกอบกับข้อมูลยอดขายจาก Creden Data พบว่า

  • YUEDPAO แบรนด์เสื้อผ้ามียอดขายปี 2566 กว่า 802 ล้านบาท 
  • GentleWomen แบรนด์แฟชั่นมียอดขายปี 2566 กว่า 1,500 ล้านบาท 
  • Dr.Pong แบรนด์เครื่องสำอางและสกินแคร์มียอดขายปี 2566 กว่า 2,018 ล้านบาท 

ซึ่งยอดขายของแบรนด์เหล่านี้ที่สอดคล้องกับความเห็นของเขาเองว่า คนไทยรุ่นใหม่หันมาใช้ของแบรนด์ไทยในราคาถูกแทนการบริโภคสินค้าหรูหราและมีราคาแพง 

ธันยวัชร์เชื่อว่าผลสำรวจนี้เป็นสถิติที่ไม่สามารถยืนยันหรืออ้างอิงในพฤติกรรมคนในภาพรวมได้ เมื่อมองจากสภาพเศรษฐกิจและตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยคนไทยใช้จ่ายด้วยความรัดกุมมากขึ้น การบริโภคสินค้าหรือบริการที่ใช้เงินจำนวนมหาศาล อย่างบ้านและรถยนต์ถูกตัดออกไปเป็นอันดับแรก ๆ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวอย่างการเลี้ยงดูบุตร 

“รู้ใช้ เข้าใจเงิน” ธันยวัชร์เห็นว่านั่นคือนิยามการใช้จ่ายของคนไทยในปัจจุบันมากกว่าติดหรู 

ชาวเน็ตบางส่วนว่าอย่างไร ?

ในเชิงภาพลักษณ์ วีรพลมองว่า Online Identity ที่แสดงออกถึงความ “ติดแกลม” บนโลกออนไลน์ยังเป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มให้ความสำคัญอย่างมาก และหากมองในเชิงพฤติกรรม ถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตอยู่ตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไปในช่วงหนึ่ง คนเราจะบริโภคสินค้าราคาสูงขึ้น 

ด้านความเห็นในโลกออนไลน์ที่มีต่อผลสำรวจ CMMU นั้นเต็มไปด้วยความคึกคักและหลากหลาย เช่น 

“ก็ไม่มีแพลนที่จะมีลูก เงินเหลือ ใช้ซื้อความสุขให้ตัวเองเน้น ๆ ดีกว่าปากกัดตีนถีบเลี้ยงลูกในยุคนี้ สู้เอาเงินมาปรนเปรอตัวเองดีกว่า อะไรสวยงามถูกใจก็สอย…”

“เอาอะไรมาติดหรู ทุกวันนี้เห็นแต่ละคนใช้ประหยัด แต่งตัวก็ธรรมดา สมัยก่อนคนแต่งตัวดี กางยีนลีวาย รองเท้าคอนเวิร์ส สกอลล์ ต้องมี ผมว่าคนยุคนี้อ่ะประหยัดกว่าคนเมื่อก่อนเยอะ”

“เศรษฐกิจยุคนี้ต่อให้ไม่ติดหรูก็อยู่แทบไม่ไหวแล้วนะ ค่าครองชีพ ค่ากินอยู่ระดับพื้นฐานก็ปรับขึ้นมาจนไม่สัมพันธ์กับรายได้ สินค้าหรูหรายิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยว่าจะแพงขึ้นอีกแค่ไหน”

ถ้าไม่มีคนพวกนี้เศรษฐกิจไม่เดินนะคะ จะให้มาพอเพียงกินไข่ต้มผักจิ้มน้ำพริก แล้วจากไปพร้อมเงินในบัญชี… เงินหามาใช้ชาตินี้จ้า ไม่ได้ใช้ชาติหน้า ถ้าบริหารได้ ไม่เดือดร้อนใคร คือจบ ใช้ชีวิตไฮโซ สวย ๆ

“ส่วนตัวแฟนซื้อของแพงจริง ๆ เสื้อผ้าแบรนด์เนมเสื้อกางเกงรองเท้า แพงหูดับ แล้วผู้ชายก็ใส่พวก street brand เยอะกว่า ผญ. เช่น พวกซูพรีม หรือ ami ถ้าเป็นวัยรุ่นเทสดี”

อยู่อย่างอดออมมีเงินเก็บเป็นล้าน เกิดรถไฟฟ้าร่วงลงมาทับเราตาย เงินล้านก็เอาไปใช้ไม่ได้ คนอื่นมาเอาไปหมด ชีวิตที่ผ่านมาโคตรไร้ค่า ไร้ความสุข ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้เหอะ

“ความสุขตอนนั้นอ่ะ ทุกข์ถ้ามันตาม มาก็ว่ากันทีหลัง ความสุข ไม่ต้องมาก ไม่ต้องยาวนาน แค่มาเรื่อย ๆ ตลอด ชโลมจิตใจ ให้ชีวิตได้ไปต่อ ก็ดีแล้ว”