“นพ พงศธร” กูรูการตลาด เผย “สกิลที่คนทำธุรกิจต้องมี”

นพ พงศธร วัยรุ่นตั้งตัว

นพ พงศธร กูรูการตลาดเจ้าของเพจ NopPongsathorn แบ่งปันประสบการณ์ที่งาน วัยรุ่นตั้งตัว Franchise and Investment 2024 ภายใต้หัวข้อ ความรู้อะไรที่คนทำธุรกิจมือใหม่ควรต้องมี 

“นพ-พงศธร ธนบดีภัทร” กูรูการตลาดและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 22 การันตีด้วยรางวัล “นักธุรกิจรุ่นใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี 2018 (JUMC STAR)” กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพอย่างบริษัท ฟินน์ เอ็กซ์ จำกัด และ บริษัท เอ็ดดู กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แบ่งปันประสบการณ์ที่งาน “วัยรุ่นตั้งตัว Franchise and Investment 2024” ภายใต้หัวข้อ “ความรู้อะไรที่คนทำธุรกิจมือใหม่ควรต้องมี” เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ณ อิมแพคฮอลล์ 7 อิมแพค เมืองทองธานี

สกิลอะไรที่จำเป็นสำหรับคนทำธุรกิจ คือคำถามที่ยาก และหาคำตอบไม่มีวันจบ เพราะการทำธุรกิจมีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ให้เรียนเท่าไหร่ก็คงไม่พอ แทนที่จะตั้งคำถามและมีผู้เชี่ยวชาญมานั่งตอบ ตนจึงขอเล่าเรื่องราวที่เรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตของเขาให้เข้าใจง่าย ๆ

รู้ว่าธุรกิจตัวเองต้องการอะไร

คำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ นพยกกรณีศึกษานักธุรกิจระดับโลกอย่าง Steve Jobs ที่พบว่า ต้องการผู้บริหารมืออาชีพที่เก่งกว่าตัวเองมาบริหารบริษัทแทน เป็นที่มาของการดึง “จอห์น สกัลลีย์” เข้ามาบริหาร Apple แทนตน 

จอห์นเป็นผู้บริหารที่ทำให้ Pepsi กลับมาได้กำไรถึง 40 ล้านเหรียญในเวลาไม่กี่ปี และมี Market Share แซงคู่แข่งอย่าง Coca-Cola ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เขาจึงถูกยกย่องให้เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง และไล่จอบส์ออกจากบอร์ดบริหาร 

กรณีศึกษานี้ทำให้เราเห็นว่า “1 สกิลที่ผู้บริหารควรมี คือ การไล่คนออกให้เป็น” หรือเปล่า นพหัวเราะ

ADVERTISMENT

“จอห์นมองเห็นโอกาสที่บริษัทจะทำกำไรได้มากกว่านี้ ในวันที่กำไรของบริษัทมีถึงหมื่นล้านด้วยยอดขาย Apple 2 แต่การลงทุนของจอบส์ไปกับสิ่งที่บอร์ดบริหารและตัวเขาเองมองว่า นี่เป็นการลงทุนที่เสียเปล่า การตัดสินใจกำจัดคนที่เป็นปรปักษ์กับบริษัท จึงเป็นสิ่งที่เขาทำในตอนนั้น”

“จอห์นไม่เข้าใจเรื่องของธุรกิจ” สตีฟ จอบส์กล่าว

ADVERTISMENT

หลังตกอยู่ในสถานะว่างงาน จอบส์ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ก่อนจะถูกนำมาเผยแพร่ในปี 2555 กลายมาเป็นบทสัมภาษณ์อันทรงคุณค่าชื่อ Steve Jobs The Lost Interview โดยมีเนื้อหากล่าวถึงจอห์นว่า “ถึงแม้เขาจะมีสกิลผู้บริหารที่ดี แต่ขาดความเข้าใจเรื่องของโลกธุรกิจ” 

สิ่งที่จอห์นไม่เข้าใจคือ ทำไมเราต้องออกผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่อยู่ตลอด แล้วทำไมต้องคิดที่จะทำเรื่องยาก แทนการทำอะไรง่ายๆ ตรงข้ามกับจอบส์ที่มองว่า ธุรกิจที่ทำเงินให้คุณอยู่ในตอนนี้ มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การไม่พัฒนาแบรนด์หรือสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมานั่นอาจเป็นหลุมพรางของความสำเร็จในอนาคตที่เราไปไม่ถึง

เหมือนกันกับ “ซีร็อก (Xerox)” บริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยเลเซอร์ ตั้งแต่นั้นมาเครื่องพิมพ์ทั่วโลกก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซีร็อกพอใจกับยอดขายและความสำเร็จนั้นตลอดมา จนกระทั่งมีพนักงานมาเสนอไอเดียการลงทุนที่แปลกใหม่ ไม่มีใครรู้เลยว่ามันจะสร้างยอดขายให้กับบริษัทได้หรือไม่อย่างการคิดค้นสายแลนด์ 

ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีว่าเราจะสามารถส่งไฟล์ให้กันได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ขณะที่ผู้บริหารแย้งว่า การทำแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการผลักธุรกิจของตัวเองให้ลงเหว ความคิดนั้นจึงถูกปัดทิ้งไป 

กรณีศึกษาดังกล่าวทำให้ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ทุกวันนี้ให้เวลาไปกับการทำอะไรเดิมๆ หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรมากกว่ากัน ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ในวันนี้ย่อมดีกว่าการมานั่งเสียดายในวันที่กลับไปทำอะไรไม่ได้แล้ว

ปรับตัวตอนไหนดี?

นพยกตัวอย่าง 2 บริษัทกล้องฟิล์มอย่าง Godak และ Fujifilm ว่า สองบริษัทนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ทำไมบริษัทนึงเจ๊ง แต่อีกบริษัทกลับไปได้ดี 

“เพราะโกดักเริ่มปรับตัวในวันที่ธุรกิจไปต่อไม่ได้แล้ว” นพกล่าว

“โกดักคิดค้นกล้องดิจิตอลได้ แต่กลัวว่าฟิล์มจะขายไม่ดีเลยไม่ผลิต กลับกันฟูจิฟิล์มมองหาช่องทางรายได้เพิ่มในวันที่ยอดขายดีที่สุด และเลือกที่จะลงทุนในนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มเอ็กซเรย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์”

การมีทุกสกิลที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจ แต่ไม่นำมาใช้ให้ถูกเวลาเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเริ่มพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ไปข้างหน้าจึงควรทำ ในวันที่ธุรกิจเดิมก็ยังไปได้ดี

คล้ายกับบริษัท NOKIA ในวันที่ “สตีฟ บัลเมอร์” ผู้บริหารต้องมาประกาศล้มละลาย เขาบอกกับสื่อว่า “เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เขาแค่ปรับตัวไม่ทันเท่านั้นเอง” ซึ่งปัจจุบันบัลเมอร์เป็นผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกอยากไมโครซอฟต์ นั่นแสดงว่า เขาไม่ได้ไม่มีสกิลที่จะประสบความสำเร็จ แต่การใช้สกิลอย่างถูกเวลาต่างหากที่สำคัญ  

“เพราะคนที่ปรับตัวได้ดี ไม่ใช่คนปรับตัวเก่ง แต่เป็นคนที่ปรับตัวถูกเวลา”

นพยกตัวอย่างสินค้า Airpod ของ Apple ที่เกิดมาจากไอเดียของผู้บริหารอย่าง “ทิม คุก” รวมเข้ากับบริษัทหูฟังอย่าง “Beats by Dr.Dre” กลายมาเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้แอปเปิล หรือการตัดสินใจซื้อ Marvel และ Starwar ของ “บ็อบ ไอเกอร์” เพื่อแก้สภาวะจุดตกต่ำของดิสนีย์ โดยนพให้เหตุผลว่า นอกจากการเลือกใช้สกิลให้ถูกเวลา “ความเร็ว” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

ก่อนจะปิดท้ายด้วยการยกกรณีของตัวเองมาเล่า นพมีพื้นฐานเป็นเด็กวิศวะคอม ถึงแม้จะสามารถคงเกรดให้ไม่ต่ำกว่า 3.00 ได้ แต่นพกลับคิดว่า “ผมต้องตกงานแน่ ๆ ในห่วงโซ่อาหารของคนที่เรียนมาด้วยกัน ผมอยู่ตรงกลางที่เรียนจบไปก็คงจะใช้ชีวิตเป็นคนธรรมดาในสังคม” ความจริงที่นพเห็นตัวเอง ณ ตอนนั้น กลายมาเป็นคำถามว่า แล้วนพต้องเปลี่ยนมันอย่างไร ให้ตนมีคุณค่า เป็นที่ต้องการ และประสบความสำเร็จ

เขาจึงพยายามพัฒนาตัวเองตั้งแต่นั้น โดยเลือกที่จะอธิบายกับเราง่ายๆ ด้วยการใช้คำว่า “Core Skill” เป็นความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม สิ่งพื้นฐานที่นพและเพื่อนในรั้วมหาวิทยาลัยมีเหมือนกัน บวกกับ “Unfair skill” ที่นพเปรียบให้เป็นความรู้ด้านธุรกิจ เป็นความรู้อีกหนึ่งเรื่องที่เขาพยายามทุกวิถีทางให้ตัวเองมี ประกอบกับ “Resilience skill” ที่ถูกนิยามให้เป็นความกล้าที่จะยืดหยุ่นกับทุกเรื่อง

นพ พงศธร ธนบดีภัทร

นพบอกว่า การรู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไรเป็นเรื่องที่ดี แต่ความกล้ามากพอที่จะยืดหยุ่นไปเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่มีนั้นสำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาเชื่อว่า “ไม่ใช่แค่ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่การมีความรู้ที่หลากหลายต่างหากจะทำให้เรากลายมาเป็นผู้ที่ถูกเลือก”