ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มมาเลย์ ลุ้นระทึก รัฐบาลเล็งเก็บภาษีความหวานตัวใหม่

drink
คอลัมน์ : Market Move

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดสงครามกับน้ำตาล (War on Sugar) ในรูปแบบการเก็บภาษีความหวาน เพื่อรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Noncommunicable Diseases-NCDs ที่ประกอบด้วยโรคต่าง ๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น อย่างเข้มข้น

หลังปี 2023 มีชาวมาเลเซียป่วยด้วยโรคเบาหวานแล้วมากกว่า 3 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ ขณะที่ประชากรอีกครึ่งล้านป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ แม้จะมีการเก็บภาษีความหวานมาตั้งแต่ปี 2019 แล้วก็ตาม

จำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมหาศาลนี้ บีบให้รัฐบาลมาเลเซียต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการลดการบริโภคน้ำตาลของประชาชนไปอีกขั้น

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ปีงบประมาณ 2025 ที่จะถึงนี้ มาเลเซียอาจจะมีภาษีความหวานตัวใหม่ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมทั้งในด้านอัตราภาษีและสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บ

หลัง “ดซุลเคฟลาย อาหมัด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย เตรียมเสนอร่างกฎหมายเก็บภาษีความหวานตัวใหม่เข้าสู่สภาในฐานะส่วนหนึ่งของร่างงบประมาณปี 2025 ซึ่งกำลังจะมีการพิจารณาในวันที่ 18 ตุลาคม 2024 นี้

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของภาษีตัวใหม่ว่าจะเก็บจากอะไรบ้างและในอัตราเท่าใด แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแย้มว่า อัตราภาษีความหวานตามกฎหมายใหม่จะสูงกว่าอัตราที่เก็บในปัจจุบันอีกประมาณ 20%

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ สำนักข่าวชินหัว รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลมาเลเซียเริ่มเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มทั้งเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม, น้ำผักผลไม้ และเครื่องดื่มผงสำเร็จรูป โดยเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 5 กรัมต่อ 100 มล. เก็บในอัตรา 0.4 ริงกิตต่อลิตร หรือประมาณ 3 บาท ส่วนน้ำผักผลไม้ที่มีน้ำตาลมากกว่า 12 กรัมต่อ 100 มล. เก็บในอัตรา 0.4 ริงกิตต่อลิตร สำหรับเครื่องดื่มผงสำเร็จรูปที่มีน้ำตาลมากกว่า 33.3 กรัมต่อ 100 กรัม เก็บในอัตรา 0.47 ริงกิตต่อ 100 กรัม

ก่อนที่เมื่อต้นปี 2024 จะขึ้นอัตราภาษีสำหรับเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่มและน้ำผักผลไม้จาก 0.4 ริงกิตต่อลิตร เป็น 0.5 ริงกิตต่อลิตร หรือทั้งนี้ มีเพียงเครื่องดื่มชง-คั้นสด และนมข้นหวานที่ไม่เข้าข่ายถูกเก็บภาษีตาม กม.ฉบับเดิม

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมีความพยายามตั้งระบบจัดเกรดอาหารและเครื่องดื่มเป็นระดับ A ถึง D ตามปริมาณน้ำตาลที่ผสมอยู่อีกด้วย

สำหรับผลลัพธ์ของภาษีความหวานนี้ “ดซุลเคฟลาย อาหมัด” ยืนยันว่า ลำพังการเพิ่มอัตราภาษีขึ้นเพียง 0.1 ริงกิตเมื่อต้นปี สามารถช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มหวานลงได้ถึง 9.25% แล้ว

ขณะเดียวกัน มีความพยายามจากองค์กรภาคประชาชนให้ขยายขอบเขตของการเก็บภาษีความหวานให้กว้างขึ้น โดย “มาเกศวารี สงการลิงกัม” เจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง กล่าวว่า รัฐบาลควรขยายขอบเขตการเก็บภาษีความหวานให้ครอบคลุมของกินอย่างอื่นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ภาษีใหม่กลายเป็นตัวผลักให้ผู้บริโภคไปบริโภคอาหารหวานประเภทอื่นแทนเครื่องดื่ม

ตัวอย่าง เช่น การเก็บภาษีจากน้ำตาลประเภทต่าง ๆ ทั้งน้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลป่น รวมไปถึงน้ำเชื่อมข้าวโพดฟรุกโตสสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบยอดนิยมของวงการอาหารแปรรูป และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการได้รับน้ำตาลสูงเกินพอดี

ด้าน “เฮลมี ฮาจา ไมดิน” ผู้ก่อตั้งร่วมและที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ Social and Economic Research Initiative ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยระดับท้องถิ่น เสนอว่า รัฐควรมีมาตรการด้านราคาออกมาป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตใช้วิธียอมแบกภาษี เพื่อคงราคาสินค้าไว้ ซึ่งจะขัดกับเจตนารมณ์ของการเก็บภาษีนี้

ในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดกับวงการเครื่องดื่มของมาเลเซียนั้น ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของ CIMB เปิดเผยกับสำนักข่าวเดอะสตาร์ ว่า หากขอบเขตการเก็บภาษียังคงเดิม ผู้ผลิตเครื่องดื่มอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากนับตั้งแต่เริ่มเก็บภาษีเมื่อปี 2019 เกือบทุกรายอาศัยการปรับสูตรลดน้ำตาลในสินค้าลง เพื่อให้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องถูกเก็บภาษี หรือขยายไลน์อัพสินค้าน้ำตาลต่ำให้หลากหลายขึ้น เพื่อสร้างกำไรจากจำนวนการขายแทน

แต่ถ้าหากมีการขยายขอบเขตสินค้าที่ต้องเสียภาษีให้กว้างขึ้น เช่น รวมกลุ่มนมข้นหวานเข้าไปด้วย อาจจะทำให้เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยอดขายสินค้ากลุ่มนี้ในมาเลเซียมีสัดส่วน 10-15% ของยอดขายรวม

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลมาเลเซียครั้งนี้ อาจเป็นความท้าทายทั้งกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้ประกอบการต่างชาติที่ส่งสินค้ากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มเข้าไปจำหน่ายในมาเลเซียด้วย ซึ่งต้องรอดูว่าหน้าตาของภาษีตัวใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร