
ไทยเบฟออกเอกสารชี้แจงเหตุผล 4 ข้อ เบื้องหลังดีลทิ้งหุ้นเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ แลกหุ้น F&N เข้าพอร์ต พร้อมนัดประชุมผู้ถือหุ้น 20 กันยายน 67 นี้
วันที่ 18 กันยายน 2567 ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ เผยแพร่เอกสารอธิบาย เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจโอนหุ้นเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (FPL) ที่ถืออยู่ให้กับทีซีซี แอสเซ็ทส์ แลกกับหุ้นเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N)
ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเบฟถอดตัวออกจากธุรกิจอสังหาฯอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับถือหุ้นธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ เพิ่มขึ้นจาก 28.31% เป็น 69.61% (ถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน InterBev Investment Limited-IBIL)
สำหรับเหตุผลเบื้องหลังดีลสวอปหุ้น พร้อมปรับพอร์ตธุรกิจครั้งนี้ ไทยเบฟระบุว่ามีด้วยกัน 4 ด้าน คือ
เสริมแกร่งชิงตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์-นม
ไทยเบฟคาดการณ์ว่า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม เป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง สะท้อนจากผลวิจัยตลาดที่คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2566-2571 นั้น 4 ตลาดหลักของบริษัทซึ่งประกอบด้วย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ สินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม จะเติบโตต่อเนื่องในระดับ 4.99-10.52% ต่อปี
ขณะที่การได้ถือหุ้นใน F&N เพิ่มเป็น 69.61% จะทำให้ไทยเบฟสามารถนำเครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอของเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ อาทิ 100 Plus, ICE Mountain, Nutrisoy, ฯลฯ เข้ามาขายในตลาดที่ไทยเบฟทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ F&N ยังไม่เข้าทำตลาดมาก่อนได้ รวมถึงยังมีโอกาสต่อยอดไปยังสินค้าอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์เหล่านี้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ไทบเบฟยังสามารถเข้าถึงโครงการ “AgriValley” ฟาร์มโคนม ขนาด 2,726 เฮกตาร์ (ประมาณ 17,037.5 ไร่) ที่คาดว่าจะรองรับโคนมได้ถึง 20,000 ตัว และผลิตน้ำนมได้กว่า 200 ล้านลิตร/ปี นอกจากนี้ยังมีระบบอัตโนมัติ ระบบเกษตรผสมผสาน มาช่วยคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับแข่งขันได้ ตอบโจทย์ความท้าทายจากสภาพเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของเงินริงกิตมาเลเซียอีกด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2568
ย้ำโพซิชั่นเบอร์ 1 ด้านรายได้ในวงอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน
แม้ในช่วง 1 เมษายน 2566-31 มีนาคม 2567 ไทยเบฟจะครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้านรายได้ในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการมีรายได้ 278,532 ล้านบาท นำหน้าผู้เล่นอื่น ๆ อาทิ ซานมิเกล เอฟแอนด์บี ที่มีรายได้ 247,008 ล้านบาท, อินโดฟู้ด ซีบีพี ซึ่งมีรายได้ 157,343 ล้านบาท, มาซาน กรุ๊ป ที่มีรายได้ 114,731 ล้านบาท และยูนิเวอร์ซัล โรบินา ที่มีรายได้ 104,178 ล้านบาท
แต่การได้ธุรกิจเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ เข้ามาร่วมในพอร์ต จะทำให้สามารถทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่นได้ไกลขึ้น ด้วยการมีรายได้เพิ่มเป็น 335,766 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ไม่เพียงเม็ดเงิน แต่ธุรกิจของเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ จะมาช่วยเสริมแกร่งให้กับไทยเบฟ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและดีมานด์สินค้าได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการกระจายความเสี่ยงจากความหลากหลายของธุรกิจและประเทศที่เข้าดำเนินธุรกิจ
ลดรายจ่าย-สร้างการเติบโต
หากการสวอปหุ้นเกิดขึ้น ไทยเบฟจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น พร้อมกับการคุมต้นทุนการผลิต-ขนส่งที่ดีขึ้น เนื่องจากสามารถนำเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นมของเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ มาขายในตลาดต่าง ๆ ผ่านช่องทางจำหน่ายที่ไทยเบฟมีอยู่แล้ว
พร้อมกับลดต้นทุนลงได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งจากการสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานและระบบกระจายสินค้าร่วมกัน รวมถึงต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบหลังความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์วัตถุดิบ-แพ็กเกจจิ้งสูงขึ้นตามขนาดธุรกิจ
นอกจากนี้ไทยเบฟยังเล็งตั้งห้องแล็บพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม เพื่อลดระยะเวลาสำหรับพัฒนาและเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด
ลุ้นโอกาส Rerating
การถือหุ้นใหญ่ในเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ และการถอดการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ทำให้ไทยเบฟมีสถานะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมเพียงอย่างเดียว ขณะที่ผลประกอบการมีอัตราส่วน EV/EBITDA ในรอบ 12 เดือนล่าสุด (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการ Rerating ด้วย
ทั้งนี้จะมีการนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 กันยายน 67 นี้